ฟิทช์ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน 1.5 หมื่นลบ.ของ PTTGC ที่ ‘A+(tha)’

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ที่ ‘A+(tha)’ ของ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) (อันดับเครดิตสากลระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ที่ BBB และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)

หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีจำนวนไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไข

หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าว ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ PTTGC ซึ่งอยู่ที่ ‘AA(tha)’ อยู่ 2 อันดับ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์เรื่อง “Corporate Hybrids Treatment and Notching Criteria” เพื่อสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องรองรับผลขาดทุนที่สูงกว่าปกติ เมื่อเทียบกับหนี้อื่นๆ ของบริษัท

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ส่วนของหนี้ที่คิดเป็นทุน: ฟิทช์พิจารณาให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีส่วนของหนี้ที่คิดเป็นทุน (Equity Credit) ร้อยละ 50 ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์เรื่อง “Corporate Hybrids Treatment and Notching Criteria” โดยลักษณะที่คล้ายทุนของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวประกอบด้วย สถานะด้อยสิทธิ การมีระยะเวลาไถ่ถอนที่น่าจะเป็น (Effective Maturity) คงเหลือมากกว่า 5 ปี สิทธิของผู้ออกหุ้นกู้ในการเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และการกำหนดเหตุผิดนัดที่จำกัด ส่วนของหนี้ที่คิดเป็นทุนถูกจำกัดที่ร้อยละ 50 เนื่องจากดอกเบี้ยที่มีการเลื่อนการชำระจะต้องมีการสะสมเอาไว้ชำระภายหน้า

กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนที่น่าจะเป็น: ฟิทช์พิจารณาว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนที่น่าจะเป็น (Effective Maturity) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวจะมีการปรับเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 1 ซึ่งเป็นตามหลักเกณฑ์ของฟิทช์ อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวจะมีการปรับขึ้นร้อยละ 0.25 ในปีที่ 10.5 และดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นสะสมร้อยละ 1 ในปีที่ 25.5

อัตราส่วนหนี้สินลดลงอย่างต่อเนื่อง: ฟิทช์คาดว่า EBITDA Net Leverage ของ PTTGC จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า ในปี 2568 จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ปรับตัวลดลง ผู้บริหารของ PTTGC มีความมุ่งมั่นในการลดอัตราส่วนหนี้สิน โดยมีมาตรการต่างๆ เพื่อลดหนี้สิน เช่น การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ การขายทรัพย์สินในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทฯ มาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยให้บริษัทฯ มีความคล่องตัวในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สิน ในกรณีที่กำไร และ ส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

กำไรที่ปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจาหน่าย (EBITDA) ของ PTTGC น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2567 (ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท) จากระดับที่ต่ำมากในปี 2566 (2.7 หมื่นล้านบาท) โดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากระดับที่ต่ำในปี 2566 โดยธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันน่าจะมีผลประกอบการที่ดี ฟิทช์คาดว่า EBITDA น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2568 จากอุปสงค์ และอุปทานในธุรกิจปิโตรเคมีที่มีความสมดุลมากขึ้น ฟิทช์คาดว่าค่าการกลั่นของ PTTGC ในปี 2568 จะยังคงอยู่ในระดับที่ดี ที่ประมาณ 5.5 – 6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์เคมีที่ต่ำ: ฟิทช์คาดว่า ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี น่าจะยังคงอ่อนแอในปี 2567 แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวเล็กบ้างจากระดับต่ำในปี 2566 เนื่องจาก ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของความต้องการของผู้บริโภคจากประเทศจีน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ช้าลง และสภาวะกำลังการผลิตที่เกินความต้องการ จะยังคงกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจีนน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนการเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด อย่างน้อยจนถึงปี 2569 ฟิทช์คาดว่ากำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรม น่าจะเริ่มลดลงหลังจากปี 2567 ซึ่งน่าจะทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ฟื้นตัวหลังจากนั้น

ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ: ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนของบริษัทฯ จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.0 – 2.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2567 และ 2568 เมื่อเปรียบเที่ยบกับ 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในปี 2567 น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ หลังจากที่บริษัทฯ เสร็จสิ้นการก่อสร้างโครงการ Olefins 2 Modification และเริ่มดำเนินการในปี 2566 ฟิทช์คาดว่า PTTGC จะยังคงไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ใหม่ๆ โดยเฉพาะในช่วงสภาวะตลาดยังคงอ่อนแออยู่

การขยายเทอมการชำระเงินช่วยเสริมความคล่องตัวทางการเงิน: ฟิทช์มองว่าการขยายเทอมการชำระเงินในการซื้อวัตถุดิบจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’/‘AAA(tha แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)’ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ นั้น จะช่วยเสริมสภาพคล่องและเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้กับ PTTGC ในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สิน PTTGC ได้มีการลดเทอมการชำระเงินดังกล่าวในช่วงปี 2565 เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงกลั่น ฟิทช์คาดว่า PTTGC จะคงการขยายเทอมการชำระเงินดังกล่าวเป็น 90 วัน ในปี 2566 – 2567 ซึ่งน่าจะช่วยลดความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน จำนวนประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท

ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น: การเข้าซื้อกิจการ Allnex สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ PTTGC ในการเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และการกระจายธุรกิจไปยังธุรกิจเคมีเกรดพิเศษ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์และธุรกิจที่มีเสถียรภาพมากกว่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบพื้นฐานในช่วงที่อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากความต้องการของผลิตภัณฑ์ปลายทางมีความผันผวนที่น้อยกว่า สัดส่วน EBITDA จากผลิตภัณฑ์ Performance Chemicals ของ PTTGC จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 22 ในปี 2567 และ ปี 2568 จากระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งทำให้สถานะทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น

การผลิตที่ครบวงจรและต้นทุนการผลิตที่ต่ำ: PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูง ส่งผลให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มากกว่า และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ผลิตปิโตรเคมีและน้ำมันอื่นๆ ในประเทศ นอกจากนี้ PTTGC ยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ คือก๊าซธรรมชาติซึ่งจัดหาได้จากภายในประเทศ และบริษัทฯ ยังได้รับประโยชน์จากการที่มีสัญญาการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับ ปตท. ซึ่งช่วยลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้ PTTGC เป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ปตท.

แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ในระดับปานกลาง: อันดับเครดิตของ PTTGC ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ที่ ‘bb+’/’a+(tha)’ ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจของบริษัทแม่ซึ่งได้แก่ ปตท. ในการให้การสนับสนุน จากความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) แก่ PTTGC ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์เชื่อว่าธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่ง PTTGC เป็นหนึ่งในบริษัทหลักของธุรกิจนี้ มีความสำคัญด้านกลยุทธ์ต่อ ปตท. นอกจากนี้ PTTGC ยังเป็นผู้รับซื้อวัตถุดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ของ ปตท.

ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ: อันดับเครดิตของบริษัทฯ ถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ ค่าการกลั่น ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ นอกจากนี้ PTTGC ยังมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบน้อยแหล่ง เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มาจาก ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ รับวัตถุดิบส่วนใหญ่จาก ปตท. ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ ปตท. มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในประเทศไทย

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

PTTGC และ Alpek, S.A.B. de C.V (อันดับเครดิตที่ ‘BBB-‘/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีสถานะทางธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน โดย Alpek เป็นผู้นำในธุรกิจ PTA, PET rPET และ Expandable Polystyrene ในทวีปอเมริกา ในขณะที่ PTTGC เป็นบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ประมาณร้อยละ 92 ของรายได้ของ Alpek มาจากผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ที่มีความผันผวนต่ำ ในขณะที่การเข้าซื้อกิจการของ Allnex ได้ทำให้กำไรของ PTTGC มีเสถียรภาพมากขึ้น และทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ปรับตัวดีขึ้น อันดับเครดิตของ Alpek อยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ PTTGC ที่ ‘bb+’ อยู่ 1 อันดับ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินของ Alpek อยู่ในระดับต่ำกว่าของ PTTGC

สถานะทางธุรกิจของ PTTGC ก็มีลักษณะใกล้เคียงกันกับของ Braskem S.A. (อันดับเครดิตที่ ‘BB+’ เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ) Braskem มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า PTTGC แต่มีผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้าง ซึ่งทำให้กำไรของ Braskem มีความผันผวนมากกว่า เครดิตเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบของ Braskem สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะตลาดของปิโตรเคมีที่ยังอยู่ในขาลงส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสูงกว่าที่ฟิทช์คาดอัตราส่วนหนี้สินของ Braskem ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่าปัจจัยลบที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตที่ 3.5 เท่าในปี 2567- 2568 และจะลดลงอยู่ที่ระดับ 3.5 ในปี 2569

สถานะทางธุรกิจของ Synthos Spolka Akcyjna (อันดับเครดิตที่ ‘BB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) อ่อนแอกว่า PTTGC จากขนาดของธุรกิจที่เล็กว่า การกระจายตัวของรายได้ที่น้อยกว่า และสถานะการเป็นผู้นำของผลิตภัณฑ์ที่อ่อนแอกว่า แม้ว่าธุรกิจ Synthetic Rubber จะแข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเข้าซื้อทรัพย์สินจาก Trinseo Synthos มีอัตราส่วนหนี้สินที่ดีกว่า PTTGC เล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอที่จะชดเชยสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ทำให้ Synthos มีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ PTTGC อยู่ 1 อันดับ

สถานะทางธุรกิจของ PTTGC แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่าเมื่อเทียบกับ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha); แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้ PTTGC ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า TOP

PTTGC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A(tha); แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เนื่องจาก PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่มากกว่า นอกจากนี้ PTTGC ยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า ดังนั้นอันดับเครดิตโดยลำพังของ PTTGC ที่ a+(tha) จึงอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ SCGC ที่ a-(tha) อยู่ 2 อันดับ

สมมุติฐานที่สำคัญ:

– ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567, 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2569, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2570 และ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2571 และหลังจากนั้น โดยมีการปรับด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ PTTGC

– กำไรของธุรกิจปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2567 เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามาและอุปสงค์ที่ยังคงอ่อนแออยู่ จะกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบ

– ค่าการกลั่นที่ไม่รวมกำไร/ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ปรับตัวลดลงสู่ระดับปกติในปี 2567

– การใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอยู่ในระดับสูงในปี 2567 เนื่องจากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงกลั่น

– การขยายเทอมการชำระเงินเพื่อซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท. ต่อเนื่องจนถึงปี 2567 – 2568

– ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนรวมจำนวน 6.6 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 – 2569

– จ่ายเงินปันผลร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม

– รวมงบการเงินของบริษัทลูก บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด (อันดับเครดิตที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ตามสัดส่วนการถือหุ้นของ PTTGC

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยลบ: บริษัทฯ ไม่สามารถปรับลดอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ตามที่ฟิทช์คาดการณ์ ให้ไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่าในปี 2568 และ แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ที่ลดลง

ปัจจัยบวก: EBITDA Net Leverage ปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง และ แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ที่เพิ่มขึ้น

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: PTTGC มีหนี้ทั้งหมด จำนวน 2.5 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2567 โดยหนี้จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า สภาพคล่องของ PTTGC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2567 กระแสเงินสดสุทธิจำนวนประมาณ 1.7 – 1.8 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในช่วงปี 2567 – 2568 และวงเงินกู้จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ PTTGC มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งตลาดตราสารหนี้ จากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ ปตท. และสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,