พิษเศรษฐกิจ! กยศ.แจงยอดชำระหนี้ลดลง แห่กู้เพิ่มขึ้น 13%

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติอนุมัติขยายกรอบการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2566 จากเดิมที่กำหนดไว้ 40,790 ล้านบาท เป็นจำนวนเงิน 46,168 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจากเดิม 643,256 ราย เนื่องจากมีจำนวนผู้ยื่นขอกู้ยืมเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้กว่า 117,000 ราย รวมจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 760,256 ราย เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

“ปีนี้ กยศ.ให้กู้เพิ่มขึ้น 13% จากเดิมที่ให้กู้ราว 40,000 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 46,000 ล้านบาท แต่การรับชำระหนี้ลดลงจากเดิม 28,000 ล้านบาท มาเหลือ 25,000 ล้านบาท ที่ลดลงเพราะจากปัญหาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ขณะที่ผู้กู้มีมากขึ้น เพราะเดือดร้อนมากขึ้น แต่เราก็มีความพร้อมให้กู้” ผู้จัดการ กยศ.ระบุ

*ของบ 1 หมื่นลบ.สำรองสภาพคล่อง

อย่างไรก็ดี แม้ กยศ.จะมีกระแสเงินสดเพียงพอ แต่ในปี 2567 ได้เตรียมแผนขอรับงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มาไว้สำรองสภาพคล่องสำหรับการปล่อยกู้เพื่อการศึกษา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจากรัฐบาล

*เตรียมนำร่องให้กู้ Reskill Upskill

นายชัยณรงค์ ยังกล่าวด้วยว่า กยศ. ยังอยู่ระหว่างเตรียมโครงการนำร่องการให้เงินกู้ยืมในหลักสูตร Reskill Upskill โดยนำร่องให้กู้ในกลุ่มโรงเรียนบริบาล เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการศึกษาที่หลากหลาย โดยกองทุนฯ คาดว่าจะสามารถเริ่มให้เงินกู้ยืมในหลักสูตรระยะสั้นดังกล่าวได้ในระยะเวลาอันใกล้

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ตลอดปีที่ผ่านมา กยศ. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของผู้กู้ยืมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กฎหมายที่ได้แก้ไขใหม่ได้กำหนดให้กองทุนคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกิน 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ มาเป็นการหักจากเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ รวมถึงผู้กู้ยืมสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด

“กฎหมายเดิม ต้องตัดเบี้ยปรับก่อน แล้วค่อยเอาเงินที่เหลือมาตัดดอกเบี้ย และถึงจะตัดเงินต้น ทำให้คนที่เป็นหนี้เงินต้นเยอะๆ ตัดไม่ถึงเงินต้นเสียที แต่กฎหมายใหม่ เปลี่ยนเป็นให้ตัดเงินต้นที่ถึงกำหนดก่อน แล้วค่อยตัดดอกเบี้ย แล้วจึงตัดเบี้ยปรับ ซึ่งทำให้เงินต้นสามารถลดลงได้ในเวลาที่รวดเร็ว” ผู้จัดการ กยศ.ระบุ

สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับใหม่นี้ กยศ. คาดว่าจะเปิดทำสัญญาระงับข้อพิพาทก่อนฟ้อง และสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ก่อนฟ้อง และหลังฟ้องทุกกลุ่ม เข้ามาดำเนินการได้ในช่วงปลายปีนี้ และจะปลดภาระผู้ค้ำประกันเมื่อผู้กู้ยืมเงินได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ

“ในอดีตที่ผ่านมา เราฟ้องคดีเฉลี่ยปีละประมาณ 8 หมื่นคดี รวมฟ้องไปคร่าวๆ 1.5 ล้านคดี ในช่วงโควิด เราลดการฟ้องคดีไว้ ยกเว้นเฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆ ที่ต้องฟ้องเพื่อไม่ให้ขาดอายุความ และไม่ให้รัฐเสียหาย ปีที่ผ่านมา มีมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องกับกรมคุ้มครองสิทธิฯ มีคนยื่นขอไกล่เกลี่ยประมาณ 4 หมื่นกว่าราย เราเชื่อว่าการระงับการฟ้องไว้ และมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และปรับโครงสร้างหนี้ จะทำให้คนที่เคยออกนอกระบบ ได้กลับเข้ามาอยู่ในระบบอีกครั้ง” นายชัยณรงค์ ระบุ

ปัจจุบัน กยศ. ได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ ไปแล้วทั้งสิ้น 6.5 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 734,127 ล้านบาท ประกอบด้วย

– ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 1,138,102 ราย

– ผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,819,051 ราย

– ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,548,923 ราย

– ผู้กู้ยืมเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 71,518 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566)

สำหรับภาพรวมการรับชำระหนี้ในปีนี้ กองทุนฯ ได้รับชำระเงินคืน จำนวน 25,719 ล้านบาท จากการดำเนินการตามกฎหมายใหม่ดังกล่าว

*จ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวด ไม่กระทบหักหนี้กยศ.

ส่วนกรณีที่จะรัฐบาลมีนโยบายจะจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวด ตามความสมัครใจนั้น นายชัยณรงค์ กล่าวว่า การจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 1 งวด หรือปรับเป็น 2 งวด เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการหักเงินเดือนข้าราชการเพื่อชำระหนี้ให้กับ กยศ.ในฐานะเจ้าหนี้ และ กยศ.คงไม่ต้องลงทุนในด้านระบบเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพียงแต่อาจต้องรอความชัดเจนจากกรมบัญชีกลางว่าจะใช้วิธีการใดจึงจะเกิดความสะดวกมากที่สุด

“ตามกฎหมายของ กยศ. ต้องให้นายจ้างหักเงินเดือน แล้วนำส่งสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ดังนั้น การจะจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 1 งวด หรือปรับเป็น 2 งวด จะไม่มีผลกระทบกับกยศ. แต่ในส่วนนี้ต้องรอความชัดเจนจากกรมบัญชีกลางก่อน ว่าวิธีใดจึงจะเกิดความสะดวกมากที่สุด และ กยศ.คงไม่ต้องลงทุนเรื่องระบบอะไรเพิ่มเติม เพราะเป็นหน้าที่ที่ทางราชการหักไว้” นายชัยณรงค์ กล่าว

*ห่วงนโยบายพักชำระหนี้กระทบสภาพคล่อง

สำหรับแนวทางของรัฐบาลในเรื่องการพักชำระหนี้ต่างๆ นั้น นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ถ้าเป็นการพักชำระหนี้ กยศ.ก็อาจจะไม่เหมาะ เนื่องจากการดำเนินงานของ กยศ.เป็นรูปแบบของกองทุนหมุนเวียน ไม่ใช่การดำเนินงานในลักษณะของธนาคารที่มีการรับฝากเงิน ซึ่ง กยศ.จำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียนที่มาจากการชำระคืนหนี้ของผู้กู้ ดังนั้นหากมีการพักชำระหนี้ในส่วนนี้ ก็อาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องของ กยศ.ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 66)

Tags: , , , ,