นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธ (4 พ.ค.) ว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐอยู่ในภาวะตึงตัวมาก และอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับที่สูงเกินไป โดยเฟดจะเร่งดำเนินการเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง
ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75% – 1.00% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี
“คณะกรรมการเฟดมีความเห็นว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า อย่างไรก็ดี ขณะนี้คณะกรรมการเฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 0.75%”
นายพาวเวลกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย นายพาวเวลกล่าวว่า “เรามีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวลงในลักษณะซอฟท์แลนดิ้ง เนื่องจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และตลาดแรงงานก็อยู่ในภาวะที่แข็งแกร่งมากด้วย”
นายพาวเวลมองว่า ภาวะอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานสหรัฐยังคงไม่สมดุล พร้อมกับกล่าวว่านโยบายต่าง ๆ ของเฟดจะช่วยให้อุปสงค์ในตลาดแรงงานชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้ตำแหน่งงานว่าง (Job Vacancy) ปรับตัวลง โดยเมื่อประชาชนกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น อุปสงค์และอุปทานในตลาดก็จะเริ่มกลับสู่ภาวะสมดุล
“การสร้างสมดุลของอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานจะช่วยให้ค่าจ้างปรับตัวลง และทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง โดยไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวหรือเผชิญกับภาวะถดถอย นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะไม่ทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเหล่านั้น”
นายพาวเวลกล่าว
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวว่า “เฟดไม่สามารถรับประกันได้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวในลักษณะซอฟท์แลนดิ้ง ซึ่งผมมองว่านี่เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก ไม่ใช่เรื่องง่าย”
นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งนี้ เฟดยังได้เปิดเผยแผนทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) โดยขณะนี้มีมูลค่ารวม 8.9 ล้านล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 65)
Tags: Fed, ธนาคารกลางสหรัฐ, อัตราดอกเบี้ย, เจอโรม พาวเวล, เฟด