นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนม.ค.-ก.ค. 64 มีมูลค่า 46,394.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.30% แบ่งเป็น มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 44,178.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,216.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 64 เพิ่มขึ้น 36.23%
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) 7 เดือนแรกของปี 64 มีมูลค่า 44,178.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.30% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.17% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน มูลค่า 15,409.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2. จีน มูลค่า 14,773.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 3. ออสเตรเลีย มูลค่า 4,893.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 4. ญี่ปุ่น มูลค่า 4,072.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 5. อินเดีย มูลค่า 2,645.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย และเปรูอยู่ที่ 100% 2. อาเซียนและจีนอยู่ที่ 93.84% 3. ไทยและญี่ปุ่นอยู่ที่ 79.12% 4. อาเซียนและเกาหลีอยู่ที่ 72.51% และ 5. ไทยและชิลีอยู่ที่ 70.67%
ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์, รัสเซียรวมเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ 7 เดือนแรกของปี 64 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,216.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 34.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 63.30% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,973.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 43.16% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 66.30%, อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 153.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 9.56% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 38.78%, อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 79.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 5.68% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 70.88% และนอร์เวย์มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 9.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6.40% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 59.97%
สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง เช่น มะพร้าวปรุงแต่ง, ซอสปรุงรส, น้ำและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์, อาหารปรุงแต่ง, สับปะรดกระป๋อง, กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่, เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง, ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด และของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 64 ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพื่อส่งออกภายใต้กรอบ FTA ต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการส่งออก เช่น ไทย-เปรู เพิ่มขึ้น 132.51%, อาเซียน-อินเดีย เพิ่มขึ้น 55.72%, อาเซียน เพิ่มขึ้น 42.70%, อาเซียน-จีน เพิ่มขึ้น 32.47% เป็นต้น และหลายตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากหดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ไทย-อินเดีย เพิ่มขึ้น 4.91% และ อาเซียน-ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 3.89%
ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และเกษตร เช่น แผ่นและแถบทำด้วยอะลูมิเนียม (ในประเทศแถบอาเซียน, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์), เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ ทำหรือชุบด้วยเงิน (ในประเทศแถบอาเซียน, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์), เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน), ทุเรียนสด (อาเซียน และจีน), ผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (อาเซียน และจีน), โพลิไวนิลคลอไรด์ (อาเซียน และอินเดีย), ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง (อาเซียน และญี่ปุ่น), เครื่องซักผ้าเกิน 10 ก.ก. (อาเซียน และเกาหลี), ถุงมือยาง (ไทย และชิลี) และเครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกาย (ไทย และเปรู) เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 64)
Tags: FTA, GSP, lifestyle, กระทรวงพาณิชย์, การค้าระหว่างประเทศ, การค้าเสรี, การส่งออก, กีรติ รัชโน, ภาษีศุลกากร, สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร