พาณิชย์ เผยยอดธุรกิจตั้งใหม่ ส.ค.เพิ่มเล็กน้อยจับตาแนวโน้มหลังคลายล็อกดาวน์

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนส.ค. 64 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนส.ค.64 จำนวน 5,553 ราย เพิ่มขึ้น 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 5,538 ราย แต่ลดลง 2% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.64 ที่มียอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 5,661 ราย โดยในเดือนส.ค.นี้ มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 11,833.29 ล้านบาท

สำหรับประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 656 ราย คิดเป็น 12% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 237 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 203 ราย คิดเป็น 4%

ส่วนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการในเดือน ส.ค.64 มีจำนวน 1,176 ราย ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการ 1,337 ราย แต่เพิ่มขึ้น 3% จากเดือนก.ค. 64 ที่มีธุรกิจเลิกกิจการ 1,140 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 4,832.30 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 103 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 68 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจการให้คำปรึษาด้านบริหารจัดการ 37 ราย คิดเป็น 3%

ส่งผลให้ปัจจุบันยังมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้นทั่วประเทศ (ณ วันที่ 31 ส.ค. 64) 807,531 ราย มูลค่าทุน 19.31 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 197,063 ราย คิดเป็น 24.40% บริษัทจำกัด 609,161 ราย คิดเป็น 75.43% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,307 ราย คิดเป็น 0.16%

นายทศพล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของการจดทะเบียนธุรกิจในเดือนส.ค.64 มีผลมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังคงเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การงดรับประทานอาหารในร้านอาหาร และมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.64 และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศที่เพียงพอ จะเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นที่ดีในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งการฟื้นตัวของการส่งออก และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นปัจจัยเสริมที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

นายทศพล กล่าวด้วยว่า ในเดือนส.ค. 64 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 52 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 24 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 28 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,416 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 20 ราย เงินลงทุน 1,646 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ 9 ราย เงินลงทุน 2,132 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 6 ราย เงินลงทุน 145 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 64 (ม.ค.-ส.ค.) คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 316 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 45,738 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 64)

Tags: , ,