นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้ง 4 ระบบที่ไทยได้รับสิทธิพิเศษอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ปี 64 มีมูลค่า 3,612.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 28.14% เมื่อเทียบกับปี 63 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 61.94% โดยไทยยังคงใช้สิทธิฯ ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 31.65% และใช้สิทธิฯ ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชเพิ่มขึ้น 25.27% ในขณะที่การใช้สิทธิฯ ส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ลดลง 2.01% และ 16.12% ตามลำดับ
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกของไทยมีการขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 91.82% ของการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP ทั้ง 4 ระบบของไทยในปี 2564 มีมูลค่าส่งออกโดยใช้สิทธิฯ สูงถึง 3,317.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีสินค้าส่งออกที่สำคัญครองอันดับ 1 ต่อเนื่องตลอดปี 2564 คือ ถุงมือยาง ซึ่งมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 505.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 45.83% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยการขอใช้สิทธิ GSP ในสินค้าถุงมือยางจะทำให้ได้รับการลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จากเดิม (MFN rate) 3% ลดเหลือ 0%
ส่วนสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงและขยายตัวดี อันดับ 2 คือ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 288.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 44.27% อันดับ 3 คือ กรดมะนาวหรือกรดซิทริก มูลค่าการใช้สิทธิฯ 133.40 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 89.21% อันดับ 4 คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ มูลค่าการใช้สิทธิฯ 90.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 37.03% และอันดับ 5 คือ หลอดหรือท่อทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ มูลค่าการใช้สิทธิฯ 89.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 202.45%
สำหรับตลาดส่งออกภายใต้ระบบ GSP อันดับรองลงมา ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่าการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP และสินค้าส่งออกสำคัญ ดังนี้ สวิตเซอร์แลนด์ (มูลค่า 259.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และขยายตัวได้ดี อาทิ ผ้าร่อน (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 10.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.38%) รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 8.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 30.43%) ตัวเรือนนาฬิกาชนิดวอตช์และส่วนประกอบของตัวเรือนดังกล่าวทำด้วยโลหะสามัญ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 8.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 136.79%) สายนาฬิกาของนาฬิกาชนิดวอตช์ และส่วนประกอบของสายนาฬิกาดังกล่าว (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 7.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 86.87%) เป็นต้น
กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (มูลค่า 20.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และขยายตัวได้ดี อยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารเป็นหลัก อาทิ สับปะรดกระป๋อง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 10.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 65.86%) พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 8.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 35.98%) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 34.69%) น้ำผลไม้/น้ำผักอื่นๆ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 56.94%) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 82.41%) เป็นต้น
นอร์เวย์ (มูลค่า 15.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และขยายตัวได้ดี อาทิ ข้าวโพดหวาน (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 3.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 31.83%) ถุงมือที่อาบซึม เคลือบ หุ้มหรืออัดเป็นชั้นด้วยพลาสติกหรือยาง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 31.36%) พาสต้ายัดไส้ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.52 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 197.94%) พืชผักอื่นๆ ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.62%) เครื่องแต่งกายของบุรุษและเด็กชายทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.76%) เป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการต่ออายุโครงการ GSP ของสหรัฐฯ ที่สิ้นสุดโครงการฯ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขณะนี้ รัฐสภาสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่ออายุโครงการฯ โดยคาดว่าจะได้รับการผ่านความเห็นชอบในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ในการต่ออายุโครงการ GSP ครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการพิจารณาประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP ให้สะท้อนกับประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ อาทิ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน เป็นต้น ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 65)
Tags: กรมการค้าต่างประเทศ, พิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์, ภาษีศุลกากร, ส่งออก