นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือสตรีมมิ่ง ไม่ว่าจะเป็น JOOX, Apple Music, Spotify หรือ Youtube ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์หรือสตรีมมิ่งดังกล่าว ถูกออกแบบมาเพื่อความบันเทิงส่วนบุคคลเท่านั้น หากผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือห้างร้านทั่วไปที่ต้องการเปิดเพลงเพื่อสร้างความบันเทิง หรือดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิ์เสียก่อน
“ช่วงนี้เป็นเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผู้ประกอบการทั้งร้านอาหาร หรือร้านค้าทั่วไป รวมถึงโรงแรมที่มีความต้องการเปิดเพลง เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง และสร้างความบันเทิงให้กับลูกค้า จะต้องขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิ์ในเพลงต่างๆ เสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลงจากแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือออฟไลน์ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ และมีความผิดตามกฎหมาย”
นายวุฒิไกร กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในผลงานเพลง เพื่อติดต่อขออนุญาตได้ที่เว็บไซต์กรม http://music.ipthailand.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมฯ โทร. 1368
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันมีองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในไทย 21 แห่ง โดยดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้ประกอบการที่นำผลงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ในสถานประกอบการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม สถานบันเทิงต่างๆ โดยมีอัตราการจัดเก็บที่แตกต่างกัน เช่น ตู้หยอดเหรียญ จัดเก็บ 250 บาท/เดือน ห้องคาราโอเกะวีไอพี 350 บาท/เดือน ร้านอาหารเล่นสด เก็บเป็นรายปี 2,500 บาท แต่ถ้าเป็นค่ายเพลงใหญ่ และมีเพลงเป็นที่นิยมมาก จะจัดเก็บในราคาแพงขึ้น เช่น ตู้หยอดเหรียญ 750/เดือน ร้านคาราโอเกะ 2,000/เดือน สื่อออนไลน์ 20,000 บาท/เพลง/ปี สื่อทีวี 250,000/เพลง/ครั้ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการใช้งานเพลงเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์โดยไม่ขออนุญาตก่อน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ โดยกรณีทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่า จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000-200,000 บาท กรณีกระทำเพื่อการค้า มีดทษจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000-800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ธ.ค. 64)
Tags: พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์, ลิขสิทธิ์, ลิขสิทธิ์เพลง, วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์, สตรีมมิ่ง, สถานประกอบ