พาณิชย์ ถกคณะทำงานติดตามภัยแล้งนัดแรก เกาะติดข้อมูลผลผลิตเกษตร

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภัยแล้งเป็นนัดแรก ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัด เพื่อติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน สถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ตลอดจนสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เพราะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับการบริโภค ทั้งอาหารคน และอาหารสัตว์ รวมถึงเกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหาร

“ได้หารือร่วมกันว่า มีข้อมูลตัวไหนที่จะต้องติดตามบ้าง และติดตามอย่างไร ทั้งข้อมูลในประเทศ และต่างประเทศ เรื่องฝน น้ำ ภาวะภัยแล้ง โดยกำหนดให้รายงานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์เร่งด่วน ต้องรายงานทันที เพื่อให้มองเห็นภาพว่าแนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้น จะได้เตรียมรับมือได้ทัน เป็นการวางแผนล่วงหน้าเชิงรุก ไม่ใช่การตั้งรับ” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

พร้อมมองว่า ในปีนี้อาจยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อรับมือ เพราะผลกระทบจากเอลนีโญในปีนี้ ยังไม่มากนัก และยังไม่สิ้นฤดูฝน โดยต้องติดตามสถานการณ์ฝนไปก่อน ส่วนปี 67 ที่หลายฝ่ายมองว่าจะเริ่มเกิดภาวะภัยแล้งนั้น จะต้องติดตามกันต่อไป และหากจำเป็นก็จะอาจต้องออกมาตรการรับมือ เพื่อลดผลกระทบ ทั้งเรื่องการส่งออก การนำเข้า แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณอะไร

นายกีรติ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ของไทย ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้ง 58 แห่ง ให้ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูก การบริโภค ความต้องการสินค้าเกษตร ในประเทศที่ตนเองประจำอยู่ ซึ่งจากที่ได้รับรายงานมาแล้ว เช่น อินเดีย ห้ามส่งออกข้าวขาว, เวียดนาม จีน และฟิลิปปินส์ มีมาตรการติดตามผลกระทบจากกรณีที่อินเดียใช้มาตรการอย่างใกล้ชิด และติดตามสถานการณ์เอลนีโญ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา แต่เริ่มมีความต้องการซื้อข้าว และสินค้าเกษตรจากหลายประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนพาณิชย์จังหวัด ก็ต้องติดตามภาวะการเพาะปลูก สถานการณ์การผลิตในพื้นที่ และแนวโน้มปัญหา

อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ประเมินแล้วไม่น่าจะมีปัญหา เพราะไทยปลูกข้าวใช้บริโภคในประเทศครึ่งหนึ่ง ที่เหลืออีกครึ่งสำหรับส่งออก และผลผลิตในแต่ละปี ก็เพิ่มขึ้น-ลดลงเป็นปกติอยู่แล้ว ตามสภาพฝนและน้ำ แม้จะไม่เกิดภาวะภัยแล้ง

ส่วนมันสำปะหลัง มีแนวโน้มผลผลิตลดลง จากปัญหาโรคใบด่างและภัยแล้ง แต่ไม่มีปัญหาปริมาณผลผลิตขาดแคลน เพราะไทยยังนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ยังไม่มีปัญหา ขณะที่ยางพารา ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยติดตามสถานการณ์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 66)

Tags: , , ,