พาณิชย์ ดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน ภายใต้กระแสการค้าโลกใหม่

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยในงานสัมมนา PostToday Thailand Economic Drive 2024 “ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ 2567” ว่า กระแสการค้าโลกใหม่ มุ่งสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ดังนั้น แนวทางการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนของประเทศ ต้องมีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องยึดและน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้หลักการมีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่จำเป็นต่อการปรับตัวสู่เศรษฐกิจยั่งยืน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเร่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมและการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และมุ่งสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสีเขียว ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovation Culture) ในองค์กร เพื่อสร้างความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

ด้านสังคม โดยเพิ่มและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา เร่งพัฒนาคนให้มีความพร้อมในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และพร้อมสำหรับโลกยุคดิจิทัล พัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีทักษะ และสมรรถนะ เพื่อนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และลดความเหลื่อมล้ำ

ด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัว และลดกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้โมเดล “เศรษฐกิจ BCG” ที่นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มายกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพ ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น Plant-based Meat การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและนำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น พลาสติกรีไซเคิล และการใช้พลังงานสะอาดในภาคการผลิตและขนส่ง เป็นต้น

ส่วนมาตรการสำคัญด้านความยั่งยืนที่เป็นกฎกติกาของประเทศต่าง ๆ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป เป็นมาตรการภายใต้นโยบายอียูกรีนดีล กำหนดผู้นำเข้าสินค้าภายใต้มาตรการ ต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนในการผลิต เริ่มบังคับใช้เมื่อต.ค.66 กับสินค้า 6 กลุ่มแรก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า, ซีเมนต์, ไฟฟ้า, ปุ๋ย, อลูมิเนียม และไฮโดรเจน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกจากไทยไป EU ในปี 66 กว่า 12,000 ล้าน

นายภูมิธรรม กล่าวว่า กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) โดย EU กำหนดให้การส่งออกนำเข้าสินค้า 7 กลุ่ม ได้แก่ ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, วัว, ไม้, กาแฟ, โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ จะต้องผ่านการตรวจสอบ และรายงานที่มาของสินค้าว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า สำหรับในปี 66 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้ EUDR ไป EU ราว 15,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะสานต่อและปฏิบัติตามคำมั่นของเป้าหมายดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมาย SDGs ในทุกมิติ หากไทยปรับตัวได้ ก็เป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

โดยปัจจุบัน ผลการดำเนินงานด้าน SDGs ของไทย โดยผลการจัดอันดับ SDG Index ประจำปี 66 พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 43 จากทั้งหมด 166 ประเทศ (ขยับขึ้น 1 อันดับจากปี 65 ซึ่งอยู่อันดับที่ 44 จากทั้งหมด 163 ประเทศ) เป็นที่ 3 ของเอเชีย (รองจากญี่ปุ่น อันดับที่ 21 และเกาหลีใต้ อันดับที่ 31) และอันดับที่ 1 ของอาเซียน

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในด้านการค้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยเปิดประตูบานใหญ่ของไทยสู่การค้าโลก เป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้ผลิตสินค้าและบริการไทย สำหรับกระทรวงพาณิชย์ มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง อาทิ

– พัฒนาส่งเสริมศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชนอินทรีย์ (Organic Farm Outlet) เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ขยายตลาดไปยังผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และตั้งราคาได้สูงกว่า

– ส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น เกิดการจ้างงานในพื้นที่ สร้างรายได้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

– การส่งเสริมการส่งออก นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสีเขียว และความยั่งยืน ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา อาทิ BIOFACH 2024 เดือนก.พ. 67 ณ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ระดับโลก การพัฒนาผู้ประกอบการเพิ่มทักษะความรู้ ยกระดับผู้ประกอบการให้มีความพร้อมกับระเบียบและกติกาการค้าใหม่ของโลกที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ผ่านการอบรมสัมมนาออนไลน์-ออฟไลน์

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่ ภายใต้คณะกรรมการบูรณาการนโยบายเชิงรุกกระทรวงพาณิชย์ โดยจะสร้างช่องทางให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับตัว เตรียมพร้อมรับมือ และแสวงหาโอกาสทางการค้าต่อไป

“กระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนนโยบายการค้า พร้อมที่จะผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน ภายใต้กระแสการค้าโลกใหม่ ที่มุ่งสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืนได้ ถ้าหากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ประเทศของเราเติบโตในทิศทางที่ยั่งยืน โดยภาครัฐพร้อมที่จะเป็นรัฐที่ส่งเสริมสนับสนุนทุกท่าน ให้สามารถปรับตัวและแสวงหาโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน” นายภูมิธรรม กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.พ. 67)

Tags: , , , ,