นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์การส่งออกข้าวของไทย ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 66 ว่า ไทยส่งออกข้าวแล้ว 4.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 4.09 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 13.45% มีมูลค่าการส่งออก 87,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 76,105 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.94%
ทั้งนี้ จากสถิติของกรมศุลกากร และข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าว ของกรมฯ ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 29 ส.ค. 66 มีปริมาณ 5.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 4.73 ล้านตัน
สำหรับตลาดส่งออกหลัก อันดับ 1 ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย 15.46% อิรัก 13.87% แอฟริกาใต้ 10.92% สหรัฐฯ 8.42% และจีน 4.56%
ส่วนชนิดข้าวส่งออกที่สำคัญ อันดับ 1 คือ ข้าวขาว 53.98% ข้าวหอมมะลิ 13.84% ข้าวนึ่ง 17.89% ข้าวหอมไทย 5.52% ข้าวเหนียว 3.31% และข้าวกล้อง 0.95%
ในส่วนของการส่งออกรายภูมิภาค ไทยส่งออกไปเอเชีย 36.64% แอฟริกา 28.88% ตะวันออกกลาง 17.46% สหรัฐฯ 11.21% ยุโรป 3.66% และโอเชียเนีย 2.15%
*คาดปีนี้ไทยส่งออกข้าวตามเป้า อนาคตส่งออกข้าวไทยสดใส
นายรณรงค์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่าปีนี้จะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าที่ 8 ล้านตัน โดยเดือน ม.ค.-ก.ค. 66 ไทยได้ส่งออกข้าวไปแล้ว 4.6 ล้านตัน
“จนถึงวันนี้ การส่งออกข้าวเป็นไปตามสิ่งที่ประเมินไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น ญี่ปุ่น เป็นการส่งออกภายใต้สัญญาเดิมที่มีการประมูล ถ้าจะดูคาดการณ์ว่า ปี 66/67 ส่งออกจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องรอดูผลการประมูลล็อตแรกประมาณ 1 ก.ย. ส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณ 4 ชิปเมนท์ การประมูลจะเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นก.ย. ถึงต้นปีหน้า พอรู้แล้วว่าการสั่งซื้อเป็นอย่างไรก็จะเริ่มคาดการณ์ได้” นายรณรงค์ กล่าว
*ไม่กังวลเอลนีโญ จับตาเทรนด์บริโภคข้าวลดลง
สำหรับความกังวลในภาวะเอลนีโญ ในส่วนของปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะมีผลต่อการผลิตข้าว แต่สถานการณ์จริงกลับไม่ได้กระทบมากนัก และยังมีข้าวในประเทศ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะกระทบหนักในปีหน้า ซึ่งจากการพูดคุยกับสมาคมต่างๆ นั้นไม่กังวลผลกระทบจากภัยแล้งมากนัก ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้าสัญญาณดี เช่น ผู้นำเข้าข้าวจากไทยหลายประเทศ นำเข้าข้าวจากไทย ด้วยราคาที่ดี เชื่อว่าเกษตรกรไทยน่าจะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี มีความเป็นห่วงข้าวนาปรัง แต่ข้าวนาปีไม่กระทบ
“สิ่งที่น่ากังวล คือ เทรนด์การบริโภคข้าวทั่วโลกลดลง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และพฤติกรรมการบริโภคข้าวที่เปลี่ยนไป หันไปบริโภคอาหารทางเลือกอื่นๆ แทน เช่น ในญี่ปุ่น การบริโภคข้าวลดลงเฉลี่ย 1 แสนตัน/ปี, ฮ่องกง การนำเข้าข้าวลดลง, มาเลเซีย การบริโภคข้าวลดลงต่อปี จาก 90 กิโลกรัม/คน เหลือ 70 กิโลกรัม/คน ส่วนไทยก็ลดลงเช่นกัน จากการหันมาดูแลสุขภาพ ลดการกินแป้ง ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก” นายรณรงค์ กล่าว
นายรณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่กังวลเรื่องตลาดในประเทศ แต่เป็นห่วงเรื่องคุณภาพของข้าว การผลิต อยากให้ผู้ปลูกข้าวใช้พันธุ์ข้าวที่ดี ผู้ทำวิจัยมีการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ มีผลผลิตต่อไร่สูง และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ
*อินเดียระงับส่งออกข้าว เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดโลก
ส่วนกรณีที่รัฐบาลอินเดียระงับการส่งออกข้าว โดยให้เหตุผลว่าต้องการคุมเงินเฟ้อนั้น กรมฯ มีมุมมองว่า รัฐบาลอินเดียต้องการเข้ามาบริหารจัดการควบคุมการค้าขายจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
“จากในอดีตที่การส่งออกข้าวของภาคเอกชนอย่างเสรี แต่วันนี้ รัฐบาลอินเดียเก็บภาษีและควบคุม เนื่องจากต้องการต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะอยู่ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งในหลายภูมิภาค มีภาวะภัยแล้ง ธัญพืชมีราคาสูง ดังนั้น ถ้ามีอำนาจในการต่อรองในการค้าโลก ก็เป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนนโยบายทางการเมือง และการทูตระหว่างประเทศ” นายรณรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ดี อินเดียมีข้อยกเว้นการส่งออกข้าว คือ กำหนดให้กรณีประเทศที่ร้องขอซื้อข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร สามารถเจรจากับอินเดียได้ ซึ่งล่าสุดมี 3 ประเทศที่ได้เจรจาแล้ว ได้แก่ 1. ประเทศสิงคโปร์ ขอ 110,000 ตัน ยังไม่ทราบผลการพิจารณาว่าอินเดียจะมอบให้ตามจำนวนที่ร้องขอหรือไม่ 2. ประเทศภูฏาน ขอ 90,000 ตัน แต่อินเดียให้เพียง 79,000 ตัน และ 3. ประเทศมอริเชียส ขอ 14,000 ตัน ซึ่งอินเดียได้ส่งมอบข้าวให้ตามจำนวนที่ร้องขอ
นอกจากนี้ เชื่อได้ว่ายังมีอีกหลายประเทศร้องขอนำเข้าข้าวจากอินเดียเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกา และบางประเทศในอาเซียน ดังนั้น เหตุการณ์ข้าวขาดตลาดโลกยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะการส่งออกยังมีอยู่ และหากมีประเทศใดข้าวขาดตลาด ก็สามารถร้องขอประเทศอินเดียได้
“หลายประเทศเฝ้าระวังสถานการณ์ข้าว เห็นความเคลื่อนไหวว่าแต่ละประเทศมีการบริหารสต็อกที่ชัดเจนขึ้น บางประเทศในอาเซียน มีการเพิ่มจำนวนวันข้าวในสต็อก” นายรณรงค์ กล่าว
ขณะเดียวกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียยังมีการเก็บภาษีข้าวนึ่ง 20% และกำหนดราคาส่งออกข้าวบาสมาติขั้นต่ำที่ 1,200 เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น โดยราคาข้าวล่าสุด ณ วันที่ 25 ส.ค. 66 ข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 620 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนของเวียดนาม อยู่ที่ 635 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยข้าวเวียดนามมีราคาแพงกว่าข้าวไทย เนื่องจากเวียดนามมีการเพาะปลูกข้าวที่ลดลง
ส่วนกรณีที่เมียนมาจะระงับการส่งออกข้าวนั้น เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่ทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
*ไทยบุกตลาดข้าวต่างประเทศ เร่งสร้างความเชื่อมั่น รักษาตลาด
กรมฯ ได้เร่งเดินหน้าส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในต่างประเทศ จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่น และรักษาตลาดข้าวไทย คาดคู่ค้าสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องดันยอดส่งออก ดังนี้
– ผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์ มีความสนใจและยินดีนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น มีการทาบทามกันภายในให้มีการทำสัญญากับไทย ซึ่งต้องรอติดตามรายละเอียดจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคาดเห็นความชัดเจนเดือนหน้าหรือปลายเดือนหน้า เนื่องจากต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เพื่อขอนโยบาย
– ในปีนี้มาเลเซียจะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจนำเข้าข้าว คือราคาที่สูง และมีความผันผวนมาก นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคชาวมาเลเซีย ยังหันมานิยมข้าวพื้นนุ่มที่เป็นข้าวฤดูกาลใหม่มากขึ้น
ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้นำเสนอตัวอย่างข้าวพื้นนุ่มของไทยให้แก่ผู้นำเข้าข้าวมาเลเซีย โดยคาดว่าจะสามารถมีผลผลิตออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ภายใน 2-3 ปี แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่การแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลกจะดีขึ้นต่อจากนี้ ทั้งเรื่องราคา และชนิดของข้าวที่ผลิตตามความนิยมของผู้บริโภคในต่างประเทศ
– ในปีนี้อินโดนีเซีย มีความต้องการนำเข้าข้าวอีกกว่า 400,000 ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยอินโดนีเซียยินดีนำเข้าข้าวจากไทย เนื่องจากข้าวไทยมีคุณภาพดี อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับราคาที่เหมาะสมด้วย
– ปัจจุบัน ความต้องการบริโภคข้าวของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงประมาณ 1 แสนตัน/ปี เนื่องจากจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวมาเยือนญี่ปุ่นลดลง อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นยังคงนำเข้าข้าวจากไทยปีละประมาณ 0.26-0.29 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวขาวจากไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมข้าวของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยไปญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง เอลนีโญ และการออกประกาศระงับการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติของอินเดีย ซึ่งไทยได้ยืนยันว่า ผลผลิตข้าวไทยในปีนี้มีปริมาณเพียงพอต่อการส่งออก และพร้อมที่จะส่งมอบข้าวคุณภาพ และมาตรฐานตรงตามสัญญาให้แก่ญี่ปุ่นต่อไป
“จะเห็นว่าเริ่มมีความเคลื่อนไหวว่า มีความสนใจข้าวไทยในอนาคต ดังนั้น การส่งออกข้าวไทยไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย” นายรณรงค์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 66)
Tags: กรมการค้าต่างประเทศ, การค้า, การค้าต่างประเทศ, ข้าว, ข้าวไทย, รณรงค์ พูลพิพัฒน์, ส่งออก