นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจดาวเด่นที่น่าสนใจ พบว่า ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ เป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวเลขการจัดตั้งธุรกิจใหม่ของปี 64 (560 ราย) เพิ่มขึ้นจากปี 63 (184 ราย) แบบก้าวกระโดดกว่า 200% (เพิ่มขึ้น 376 ราย)
และเมื่อพิจารณาจากมูลค่าทางบัญชี (สินทรัพย์รวม-หนี้สินรวม) ปี 63 มีมูลค่าสูงถึง 10,903 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตทั้งสิ้น 88.28% (ปี 62 มีมูลค่าทางบัญชี 5,790 ล้านบาท และมูลค่าทางบัญชีปี 64 อยู่ระหว่างธุรกิจนำส่งข้อมูลตามกฎหมาย)
ขณะที่ผลประกอบการของธุรกิจ (รายได้รวม) ปี 61-63 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 61 รายได้รวม 20,623 ล้านบาท ปี 62 รายได้รวม 32,202 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 56.14%) และ ปี 63 รายได้รวม 44,800 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 39.12%)
ทั้งนี้ นอกจากผู้ประกอบการไทยที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของเป็นอันดับ 1 ด้วยเงินลงทุน 4,702.58 ล้านบาท (95.47%) แล้ว ชาวต่างชาติยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน โดยนักลงทุนชาวจีน เข้ามาลงทุนสูงสุด ด้วยเงินลงทุน 65.70 ล้านบาท (1.33%) ตามมาด้วย ฮ่องกง 18.41 ล้านบาท (0.37%) เยอรมัน 13.77 ล้านบาท (0.28%) สัญชาติอื่นๆ 125.12 ล้านบาท (2.55%)
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของเติบโตแบบก้าวกระโดด มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนิยมสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เป็นผลมาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ทำได้ง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ระบบขนส่งมีความสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งธุรกิจฯ ยังคงดึงดูดผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านการทำโปรโมชันต่างๆ เพื่อสร้างและขยายฐานลูกค้า ระบบการจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ที่หลากหลาย และมีความสะดวก
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่ามาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของภาครัฐจะผ่อนคลายลง แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงป้องกันตัวเองด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคยังคงพึ่งพาการใช้งานการขนส่งแบบเดลิเวอรี ทำให้ธุรกิจมีมูลค่าการเติบโตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี จากการที่มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้าสู่ธุรกิจฯ เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจึงมีตัวเลือกที่หลากหลายในการเลือกใช้บริการ ทำให้อัตราการแข่งขันของผู้ประกอบการมีสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งการแข่งขันด้านราคา การขยายสาขาเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า การยกระดับคุณภาพการให้บริการทั้งความรวดเร็วในการส่งสินค้า และการรักษาสินค้าไม่ให้เกิดการสูญหายหรือเสียหายจากการขนส่งเพื่อรักษาฐานลูกค้า อีกทั้งยังพบปัญหาการแย่งชิงพนักงานขนส่งสินค้า ยิ่งในช่วงนี้ที่พนักงานส่วนหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ด้วย
ดังนั้น จากปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ประสบภาวะขาดทุนในระยะหนึ่ง แต่จะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างความแข็งแกร่งผ่านฐานลูกค้าที่เชื่อมั่นในธุรกิจที่มากขึ้น ส่งผลดีและผลกำไรที่เป็นบวกในระยะยาว
“ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ ยังคงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเข้ามาลงทุน จากปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าที่มีเพิ่มขึ้น และจากรายได้รวมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และใช้บริการขนส่งสินค้ามากขึ้น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจฯ ที่จะเติบโตได้ดีในอนาคต”
รมช.พาณิชย์ กล่าว
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 65) มีธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย จำนวน 1,324 ราย คิดเป็น 0.16% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุนรวม 4,925.58 ล้านบาท คิดเป็น 0.02% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย
ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 837 ราย (63.22%) มูลค่าทุน 890.00 ล้านบาท เป็นธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 1,104 ราย ทุนฯ 1.01-5.00 ล้านบาท จำนวน 189 ราย ทุนฯ 5.01-100 ล้านบาท จำนวน 27 ราย มากกว่า 100 ล้าน จำนวน 4 ราย พบว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด 1,280 ราย (96.68%) ธุรกิจขนาดกลาง (M) 29 ราย (2.19%) และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) 15 ราย (1.13%)
ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 449 ราย (33.91%) ทุนจดทะเบียนรวม 3,783.88 ล้านบาท (76.82%) อันดับ 2 ภาคกลาง 276 ราย (20.84%) อันดับ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 228 ราย (17.22%) อันดับ 4 ภาคใต้ 142 ราย (10.73%) อันดับ 5 ภาคเหนือ 115 ราย (8.69%) อันดับ 6 ภาคตะวันออก 104 ราย (7.85%) และอันดับ 7 ภาคตะวันตก 10 ราย (0.76%)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 65)
Tags: logistic, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, การค้า, ธุรกิจรับส่งเอกสาร, สินิตย์ เลิศไกร