นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกอยู่ประมาณ 400,000 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหน่วยงานพันธมิตร โดยผลักดันไปสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วยแล้วจำนวน 34,572 ราย แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านี้ อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือร้านอาหาร เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนทุกครัวเรือน
นอกจากนี้ ธุรกิจนี้ยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลยุทธ์สร้างโมเดลธุรกิจค้าปลีกรายย่อย หรือโชวห่วย เพื่อขยายตลาดออกไปรอบนอกมากขึ้น รองรับฐานลูกค้าชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ถือว่าเป็นตลาดเนื้อหอมที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีร้านค้าโชวห่วยแบรนด์ใหม่ๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว อาทิ ถูกดี มีมาตรฐาน (คาราบาวแดง) โดนใจ (บิ๊กซี) และขายดี (โลตัส) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของธุรกิจโชวห่วย นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายในด้านโอกาส ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น มีผู้ช่วยในการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการตลาดและเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็จะมีความท้าทายที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งหากไม่ยอมปรับตัวก็จะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปอย่างง่ายดาย
ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงเร่งเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการ โดยผลักดันไปสู่การเป็น “สมาร์ทโชวห่วย” ซึ่งเป็นนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ โดยสมาร์ทโชวห่วย หมายถึง ร้านค้าที่มีภาพลักษณ์ที่ดี มีการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการร้าน มีช่องทางออนไลน์สำหรับให้บริการลูกค้า
สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาร้านค้าสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วยมี 4 ประการ คือ 1. เพิ่มรายได้ 2. ลดต้นทุน 3. สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และเมื่อผู้ประกอบการสมาร์ทโชวห่วยมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพเพียงพอ ก็จะสามารถช่วยเหลือชุมชน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย 4. กระจายรายได้สู่ชุมชน โดยร้านค้าสมาร์ทโชวห่วยจะเป็นแหล่งรับซื้อ-ขายสินค้าจากชุมชน ช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชน และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป
นายทศพล กล่าวต่อว่า ในปี 65 นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อร่วมกันยกระดับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ ให้ครอบคลุมในหลายมิติ ตั้งแต่การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านการจัดสัมมนาแบบออนไลน์และออนไซต์ทั่วประเทศ การปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้ทันสมัย แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น การส่งเสริมให้ร้านค้าโชวห่วยนำระบบขายหน้าร้าน (Point of sale system: POS) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น (Local Modern Trade) ที่พร้อมจะร่วมพัฒนาร้านค้าสมาชิกให้เติบโตไปด้วยกัน ผู้ผลิตสินค้าชุมชนและผู้ให้บริการเสริม ที่จะช่วยสร้างจุดแข็งและเพิ่มรายได้ให้ร้านค้าโชวห่วย ผู้ให้บริการเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนในการสั่งซื้อ ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการขายสินค้า รวมทั้งสถาบันการเงิน ที่จะมานำเสนอแหล่งเงินทุนให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการรายย่อย
สำหรับการพัฒนาขั้นพื้นฐานให้กับร้านโชวห่วยนั้น กรมฯ ได้เริ่มจัดสัมมนาให้ความรู้ด้วยหลักสูตร “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สร้างเครือข่าย สู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วย” โดยกำหนดจัดขึ้นรวม 12 ครั้งใน 4 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งได้จัดสัมมนาครั้งแรกไปแล้วที่จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา และในเดือนเม.ย.นี้ จะจัดอีก 2 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ และระยอง ต่อด้วยจังหวัดยโสธร นครสวรรค์ ลำพูน ในเดือนพ.ค. จังหวัดภูเก็ต นครราชสีมา ลำปาง อุดรธานี ในเดือนมิ.ย. และสิ้นสุดที่จังหวัดตรัง และปราจีนบุรี ในเดือนก.ค. ตามลำดับ
ส่วนผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารงานสัมมนาฯ และกิจกรรมอื่นๆ ของโครงการสมาร์ทโชวห่วย ได้ที่เฟซบุ๊ก สมาร์ทโชวห่วย และเว็บไซต์ www.dbd.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจการค้า กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 02-5475986 หรืออีเมล bizpromotion.dbd@gmail.com
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 65)
Tags: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กระทรวงพาณิชย์, ทศพล ทังสุบุตร, ร้านโชห่วย, เศรษฐกิจฐานราก