กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐเปิดเผยว่า ห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเปราะบางอยู่ เนื่องจากปริมาณสินค้าในสต็อกโดยเฉลี่ยที่ผู้ซื้อมีอยู่นั้นอยู่ได้ไม่ถึง 5 วัน
กระทรวงฯ อ้างถึงผลสำรวจบริษัทต่าง ๆ กว่า 150 แห่งทั่วโลกที่รัฐบาลรวบรวมข้อมูล โดยระบุว่า ความต้องการชิปเพิ่มขึ้น 17% โดยเฉลี่ย ในช่วงปี 2562-2564 ในขณะที่อุปทานที่มีนั้นกลับไม่สอดคล้องกัน
ผลสำรวจระบุว่า อุปทานและอุปสงค์ชิปไม่สอดคล้องกันอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะยังไม่คลี่คลายลงในช่วงหกเดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังระบุว่า ปริมาณสินค้าในสต็อกโดยเฉลี่ยของผู้ซื้อชิป ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดลงจาก 40 วันในปี 2562 ลงมาเหลือไม่ถึง 5 วันในปี 2564
ทางด้านนางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า “หากการระบาดของโรคโควิด-19, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือความไม่มั่นคงทางการเมืองเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในต่างประเทศแม้จะเพียงไม่กี่สัปดาห์ อาจมีแนวโน้มที่โรงงานผลิตในสหรัฐจะหยุดดำเนินการ ส่งผลให้แรงงานสหรัฐและครอบครัวเผชิญความเสี่ยง”
รมว.พาณิชย์สหรัฐยังระบุด้วยว่า ห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเปราะบาง และเป็นสิ่งสำคัญที่สภาคองเกรสจะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้ข้อเสนอวงเงิน 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับช่วยเหลือด้านการผลิตชิปผ่านความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ข้อมูลจากผลสำรวจดังกล่าวเปิดเผยขึ้น หลังจากกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือในการเก็บข้อมูลไปยังผู้ผลิตชิปรายใหญ่, ผู้บริโภค และคนกลางเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว เพื่อรวบรวมข้อมูลและหาสาเหตุปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 65)
Tags: ชิป, สหรัฐ, เซมิคอนดักเตอร์