นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร ว่า ได้ให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นัดหมายหารือติดตามสถานการณ์เอลนีโญหรือภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตร และการตลาดพืชผลการเกษตรของไทย
โดยมีผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์จาก 58 ประเทศทั่วโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนราชการอื่น และภาคเอกชนร่วมด้วย โดยมุ่งเน้นเรื่องข้าวเป็นหลัก
ที่ประชุมประเมินตรงกันว่า สถานการณ์เอลนีโญ รวมทั้งมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาวของอินเดีย เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าว ตลาดข้าวและราคาข้าว
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงว่า สถานการณ์เอลนีโญแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับอ่อน 0.5-1.0 ระดับปานกลาง 1.0-1.5 และระดับรุนแรง เกินกว่า 1.5 สำหรับประเทศไทย พ.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 0.8 ซึ่งช่วงที่มีสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงตอนปี 59 อยู่ที่ระดับ 1.2
ขณะที่กรมชลประทาน รายงานว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนของไทยจะลดลง 5% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 30 ปี และปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้ คาดว่าจะน้อยกว่าปี 65 ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีผลกระทบกับพืชผลการเกษตรอยู่ในเขตชลประทาน
ส่วนกรณีที่ประเทศอินเดียที่ระงับการส่งออกข้าวขาวเมื่อวันที่ 20 ก.ค.นั้น เกิดจากสถานการณ์เอลนีโญและภัยแล้งที่กระทบกับราคาข้าวในอินเดียสูงขึ้น รัฐบาลต้องการให้ราคาข้าวในประเทศลดลง จึงระงับการส่งออกเพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ โดยส่งผลกระทบ ดังนี้
1. ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น
2. เป็นโอกาสของตลาดข้าวไทย โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา เพราะแอฟริกานำเข้าข้าวจากอินเดีย
3. เกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ในราคาสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าสูงกว่าก่อนอินเดียห้ามส่งออกข้าวประมาณ 7% แต่อาจมีผลลบกับอาหารสัตว์และปศุสัตว์ เพราะต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น แต่ราคาตลาดข้าวโลกมีความผันผวน ซึ่งยังไม่นิ่งในขณะนี้ เพราะยังไม่สามารถประเมินราคาข้าวในตลาดโลกได้อย่างชัดเจน
“ที่ประชุมมีมติให้ตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์เอลนีโญภัยแล้งของโลก และประเทศเรา รวมทั้งติดตามการผลิต การตลาด ราคาข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นด้วย ซึ่งวอร์รูมจะประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธาน และผู้แทนส่วนราชการ ทั้งกระทรวงพาณิชย์กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงดีอี และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนและเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอแนวทางตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อ รมว.พาณิชย์ต่อไป”
นายจุรินทร์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต ราคาและการตลาดของพืชเกษตรทุกตัวโดยเฉพาะข้าว รายงานให้กระทรวงพาณิชย์ทราบทุก 1-2 สัปดาห์
“สำหรับราคาข้าวในอนาคต ได้สั่งการให้หาจุดสมดุล ขณะที่ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นเกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้น จะส่งผลให้ข้าวสารแพงเกินจุดสมดุลหรือไม่ ถ้าแพงเกินก็ต้องกำกับควบคุมให้อยู่ในจุดที่ผู้บริโภครับได้ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ต้องอยู่ได้ด้วย ให้วินวินทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย และถ้าเสียประโยชน์ ให้เสียประโยชน์น้อยที่สุดทุกฝ่าย วอร์รูมมีหน้าที่ต้องไปดู”
นายจุรินทร์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ข้าว, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ราคาข้าว, ส่งออกข้าว, เอลนีโญ