นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-solution ชี้แจงเหตุผลในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 1.35 แสนรายชื่อ ว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นการสืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร ซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปไตยที่ต้องมีการยึดโยงกับประชาชน เป็นเสมือนวัคซีนเข็มแรกที่จะช่วยให้ประเทศหายป่วยแล้วกลับมาแข็งแรง รื้อระบบที่ไม่เป็นธรรมในสังคม สร้างความเป็นกลางในสังคม ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
“หัวใจของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการสร้างระบบการเมืองที่มาจากความไว้วางใจของประชาชน ให้โอกาสประชาชนได้ตัดสินใจเลือกอย่างแท้จริง”
นายพริษฐ์ กล่าว
แนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การปลดอาวุธ 4 อย่าง ได้แก่ 1.การยกเลิกวุฒิสภาแล้วให้มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงอย่างเดียว 2.การยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 3.การปรับที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ 4.การปรับที่มาขององค์กรอิสระ
สำหรับบทบาทของวุฒิสภานั้นต้องสอดคล้องกับที่มาในการยึดโยงกับประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าวุฒิสมาชิกในอังกฤษจะมีอำนาจไม่มากเหมือนวุฒิสมาชิกของสหรัฐที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งสามารถถอดถอนประธานาธิบดีได้ ขณะที่วุฒิสภาของไทยมาจากคณะรัฐประหารเพื่อสืบทอดอำนาจ และมีอำนาจมากกว่าที่ผ่านมา เช่น สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือกฎหมายสำคัญได้
ข้อดีของการเปลี่ยนระบบรัฐสภาเป็นสภาเดี่ยว ได้แก่ การประหยัดงบประมาณที่จะใช้เป็นเงินเดือนและค่าบริหารจัดการปีละไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท, ระบบการเมืองที่มีความเรียบง่าย เพราะหากมาจากการเลือกตั้งก็ไม่ต่างจากการเลือก ส.ส.ที่ยึดโยงกับพรรคการเมือง และสามารถออกแบบระบบนิติบัญญัติที่มีความทันสมัย คล่องตัว สามารถแก้ไขปัญหาได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ส่วนข้อกังวลว่าไม่มีวุฒิสภาแล้วจะส่งผลกระทบต่อระบบนิติบัญญัตินั้นสามารถแก้ไขด้วยกลไกอื่นได้ เช่น หากต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็สามารถไปเพิ่มสัดส่วนในคณะกรรมาธิการฯ, การถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารนั้นสามารถไปเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายค้าน, การติดอาวุธประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูล รัฐสภาที่ดีที่สุดคือรัฐสภาที่ไม่มีวุฒิสภา ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วในหลายประเทศ
“ที่ผ่านมาการตรวจสอบกรณีเรือดำน้ำ หรือการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไม่ได้มาจากวุฒิสภาแต่มาจากภาคประชาชน”
นายพริษฐ์ กล่าว
ส่วนการยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การคาดการณ์ล่วงหน้าในอนาคตเป็นระยะเวลานานๆ อาจไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือเพื่อเอาไว้กำจัดคู่แข่งทางการเมือง เพราะหากใครเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วต้องดำเนินการ หากไม่ทำก็จะมีโทษ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 64)
Tags: การเมือง, ประชุมรัฐสภา, พริษฐ์ วัชรสินธุ, แก้ไขรัฐธรรมนูญ