พรรคเสรีนิยมของ มาร์ค คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันจันทร์ (28 เม.ย.) โดยรักษาอำนาจไว้ได้อีกสมัย แต่ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาฯ ดังที่คาร์นีย์คาดหวังไว้ว่าจะช่วยให้การเจรจาต่อรองเรื่องภาษีศุลกากรกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เป็นไปโดยสะดวก
ทางด้านปิแอร์ ปัวลิเยฟร์ ผู้นำพรรคอนุรักษนิยม ได้ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ต่อพรรคเสรีนิยมแล้ว พร้อมประกาศว่า พรรคของตนจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐบาลเสียงข้างน้อยนี้ต่อไป
ผลการนับคะแนนล่าสุดชี้ว่า พรรคเสรีนิยมมีคะแนนนำหรือชนะไปแล้วใน 164 เขตเลือกตั้ง (ที่นั่ง) ขณะที่พรรคอนุรักษนิยมตามมาที่ 147 ที่นั่ง
ทั้งนี้ พรรคเสรีนิยมจำเป็นต้องได้ที่นั่งอย่างน้อย 172 ที่นั่งจากทั้งหมด 343 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร จึงจะครองเสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลำพัง ไม่ต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่น และตามสถิติแล้ว รัฐบาลเสียงข้างน้อยในแคนาดามักมีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปีครึ่ง
ก่อนการเลือกตั้ง คาร์นีย์เคยประกาศจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ในประเด็นภาษี และระบุว่าแคนาดาจำเป็นต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อลดการพึ่งพิงสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม พรรคอนุรักษนิยมสายกลาง-ขวา ซึ่งชูประเด็นการเปลี่ยนแปลงหลังการบริหารของพรรคเสรีนิยมนานกว่า 9 ปี กลับได้รับความนิยมอย่างเหนือความคาดหมาย
ถึงกระนั้น ผลลัพธ์นี้ถือเป็นการกลับมาที่น่าจับตามองของพรรคเสรีนิยม ซึ่งเมื่อเดือนม.ค.ยังมีคะแนนนิยมตามหลังถึง 20 จุด ก่อนที่อดีตนายกฯ จัสติน ทรูโด ที่คะแนนนิยมตกต่ำจะประกาศลาออก ประกอบกับท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์ในเรื่องภาษีและการผนวกดินแดน
คริสเตีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีคมนาคมของพรรคเสรีนิยม กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ CTV ว่า “พอย้อนมองไปเมื่อเดือนธ.ค. ตอนนั้นใครต่อใครก็พากันกาชื่อพรรคเสรีนิยมทิ้งไปแล้ว ถึงขนาดมีการพูดกันว่าเราจะยังคงสถานะพรรคการเมืองไว้ได้หรือไม่ด้วยซ้ำในการเลือกตั้งคราวหน้า แต่คืนนี้ เมื่อชัดเจนแล้วว่าเราจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล สำหรับดิฉัน นี่คือผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมมาก”
การลาออกของฟรีแลนด์จากคณะรัฐมนตรีเสรีนิยมเมื่อเดือนธ.ค. หลังมีความขัดแย้งกับทรูโดนั้น เป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การประกาศลงจากตำแหน่งของทรูโดในเวลาต่อมา
อนึ่ง คำขู่ของทรัมป์ได้ปลุกกระแสชาตินิยมในแคนาดา ซึ่งส่งผลดีต่อคะแนนนิยมของคาร์นีย์ นักการเมืองหน้าใหม่ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G7 ถึงสองแห่ง
ทรัมป์กลับมาเป็นประเด็นในการหาเสียงอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยประกาศว่าอาจขึ้นภาษีรถยนต์ที่ผลิตในแคนาดาถึง 25% ด้วยเหตุผลว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการรถยนต์เหล่านั้น ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ยังเคยเปรยว่าอาจใช้ “มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ” เพื่อบีบให้แคนาดากลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ
คาร์นีย์เน้นย้ำอยู่เสมอว่า ประสบการณ์ของตนในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ตนเป็นผู้นำที่เหมาะสมที่สุดในการรับมือกับทรัมป์ ขณะที่ปัวลิเยฟร์มุ่งหาเสียงโดยปลุกเร้าความกังวลในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับค่าครองชีพ ปัญหาอาชญากรรม และวิกฤตราคาที่อยู่อาศัย
เมื่อวันจันทร์ ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย ย้ำข้อเรียกร้องเดิมที่ต้องการให้แคนาดามาเป็นรัฐที่ 51
ทรัมป์โพสต์ว่า “ขอให้ชาวแคนาดาผู้ยิ่งใหญ่โชคดี เลือกชายผู้มีกำลังและปัญญาที่จะลดภาษีของคุณลงครึ่งหนึ่ง เพิ่มแสนยานุภาพทางทหารให้ฟรี สู่ระดับสูงสุดในโลก ทำให้ธุรกิจรถยนต์ เหล็กกล้า อะลูมิเนียม ไม้ พลังงาน และอื่น ๆ ทั้งหมดของคุณโตขึ้นสี่เท่า โดยไม่มีภาษีศุลกากรหรือภาษีใด ๆ หากแคนาดากลายมาเป็นรัฐที่ 51 อันเป็นที่รักยิ่งของสหรัฐอเมริกา เส้นแบ่งพรมแดนที่ขีดขึ้นปลอม ๆ ตั้งแต่หลายปีก่อนก็จะหมดไป”
ความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ผู้สนับสนุนอีก 2 พรรคเล็ก คือ พรรคประชาธิปไตยใหม่ (NDP) ซึ่งมีแนวคิดเอียงซ้าย และพรรคบล็อก เกแบกัว (Bloc Quebecois) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมในรัฐควิเบก หันไปลงคะแนนให้พรรคเสรีนิยมมากขึ้น โดย จากมีต ซิงห์ ผู้นำพรรค NDP ได้ยอมรับความพ่ายแพ้ในเขตเลือกตั้งของตนเองแล้ว และประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค
แม้พรรคอนุรักษนิยมจะทำท่าว่าจะได้ที่นั่งเพิ่มในเขตเมืองโทรอนโตซึ่งมีที่นั่งจำนวนมาก และอาจสกัดกั้นไม่ให้พรรคเสรีนิยมได้เสียงข้างมาก แต่ตัวปัวลิเยฟร์เองกลับมีคะแนนตามหลังในเขตเลือกตั้งของตนเองแถบชานเมืองออตตาวา โดยยังคงต้องรอผลการนับคะแนนต่อไป
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของปัวลิเยฟร์ที่เน้นหาเสียงด้วยประเด็นภายในประเทศ และความจำเป็นในการฟื้นฟูประเทศที่เขาอ้างว่า “พัง” เพราะพรรคเสรีนิยม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 68)
Tags: เลือกตั้งแคนาดา, แคนาดา