ฝ่ายค้าน-สส.ใต้ รุมสับผลศึกษาลงทุน “แลนด์บริดจ์” ยังคลุมเครือ

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ตามที่ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานฯ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

รายงานของ กมธ.วิสามัญฯ ระบุผลศึกษา ทั้งนิยาม รูปแบบการลงทุน เหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ พร้อมตั้งข้อสังเกตโครงการดังกล่าวจะเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ด้วยระบบรถไฟรางคู่และทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) โดยกำหนดจุดก่อสร้างบริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวนาง ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง

เหตุผลสำคัญที่มีการศึกษาโครงการดังกล่าว เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นประตูสู่การขนส่ง และแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค ภาคใต้ของไทยมีภูมิศาสตร์เหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ตลอดจนการขนส่งสินค้าประเทศไทยไปสู่ภูมิภาคต่างๆ เหมาะสมที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมการเกษตร ยางพารา และอาหาร

พร้อมทั้งเพิ่มส่วนแบ่งการเดินเรือ และค่าธรรมเนียมจากช่องแคบมะละกา จูงใจผู้ประกอบการขนส่ง นักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางแลนด์บริดจ์ เพราะสามารถย่นระยะเวลาในการเดินทางได้ดีกว่าเดิม รวมทั้งเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งประเทศไทย ตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของเอเชีย

โดยคาดการณ์ว่าโครงการดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการลงทุนระดับนานาชาติ เพิ่มโอกาสการจ้างงาน เพิ่มรายได้อุตสาหกรรมหลังท่า คนรุ่นใหม่มีงานทำในที่อาศัย เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ 2.8 แสนตำแหน่ง แบ่งเป็น จังหวัดระนอง 1.3 แสนตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 1.5 แสนตำแหน่ง ทำให้ประชาชนมีรายได้ มีอยู่ มีกิน มีใช้ มีตลาดรองรับสินค้าทางการเกษตรและพืชผลต่างๆ ของภาคใต้ เปิดการท่องเที่ยวระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เกิดธุรกิจใหม่ใหม่ในพื้นที่ ทำให้ประชาชนขายสินค้าทางการเกษตรได้มากขึ้น

ผลที่เกิดขึ้น จะทำให้มีความเจริญพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกพื้นที่ สร้างรายได้ให้กับประเทศ เพิ่ม GDP ของประเทศไทยจนกลายเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นประตูสู่การขนส่งสินค้าของภูมิภาคออกไปทวีปต่างๆ ทั่วโลก ลดการย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นใหม่ สร้างสุขให้กับชุมชน และปรับปรุงฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต

ทั้งนี้ รัฐบาลควรออกกฏหมายในรูปแบบพิเศษ ที่มีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับบริบทภาคใต้ ตั้งคณะกรรมการเพื่อมาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ศึกษารายละเอียดโครงการแลนด์บริดจ์ทุกมิติ ทั้งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชน วิถีชีวิตการประมงพื้นบ้าน และสื่อสารต่อประชาชนทุกพื้นที่ให้เข้าใจทุกมิติ ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษาการเวนคืนที่ดิน การชดเชยเวนคืนที่ดิน การเตรียมพร้อมแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น

พร้อมมองว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนให้เกิดอุตสาหกรรมหลังท่า และนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดภาคใต้ พัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ในประเทศไทยได้ต่อไป เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม

กมธ.วิสามัญฯ จึงขอเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปศึกษาและดำเนินการต่อไปให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกัน อันจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ

หลังจาก กมธ.วิสามัญฯ ได้รายงานผลศึกษาเสร็จแล้วได้มี สส.หลายคน โดยเฉพาะฝ่ายค้าน และ สส.ภาคใต้ อภิปรายคัดค้านเนื้อหาในรายงานของ กมธ.วิสามัญฯ ที่ยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งความคุ้มทุนของโครงการ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถตอบคำถามได้ เรื่องการประหยัดระยะเวลาขนส่ง ค่าใช้จ่ายในเส้นทางเดินเรือ พร้อมแสดงความเป็นห่วงเรื่องพื้นที่ป่าไม้ และวิถีชีวิตคนในพื้นที่ต้องสูญเสียไปจำนวนมาก

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ ระบุว่าอาจช่วยลดเวลาและระยะทางขนส่ง ก็เกิดคำถามที่ไม่มีคำตอบมากมาย รัฐบาลต้องตอบคำถามสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.ไม่มี Option อื่นที่ดีกว่านี้แล้วใช่ไหม นอกเหนือจากการดำเนินโครงการนี้ เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาทที่จะใช้ในโครงการ ยกระดับความสามารถการแข่งขันด้านใดของประเทศได้บ้าง 2.จะจัดการความเสี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างไร พื้นที่ดำเนินการโครงการเป็นพื้นที่มรดกโลก 6 แห่ง เต็มไปด้วยศักยภาพทั้งทางบก ทางน้ำ ต้องเวนคืนพื้นที่หลายหมื่นไร่ สูญเสียพื้นที่ประมง ป่าไม้ พื้นที่ปลูกทุเรียน และผลไม้มากมาย คือต้นทุนที่ต้องจ่าย 3.โครงการนี้ต้องวางสมดุลและแสดงวิสัยทัศน์ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน เป็น 3 คำถามสำคัญสุดที่ยังไม่มีคำตอบในรายงานฉบับนี้

“ถ้ารัฐบาลเลือกโครงการแลนด์บริดจ์ หวังจะแชร์ส่วนแบ่งการเดินเรือในภูมิภาค ต้องตอบคำถามให้ได้ชัดเจนใน 3 องค์ประกอบ คือ เส้นทางดำเนินโครงการต้อง 1.เร็วกว่า 2.สะดวกกว่า และ 3.ถูกกว่า แต่เนื้อหาในรายงาน แค่บอกว่าอาจจะลดเวลา ไม่สามารถอนุมานได้จะเร็วกว่า หรือการขนส่งที่ต้องใช้ทั้งทางเรือ ทางราง ทางรถ จะสะดวกในการขนส่งสินค้าหรือไม่ ส่วนเรื่องถูกกว่ายังไม่มีคำตอบในรายงาน ต้องรอรายละเอียด ดังนั้น ถ้ารัฐบาลตอบคำถามไม่ได้ ก็ไม่สามารถรับรายงานฉบับนี้ได้” นายพิธา ระบุ

นายพิธา กล่าวว่า เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท เราจะทำอะไรเพื่อชุมชนพี่น้องภาคใต้ และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้บ้าง ทั้งนี้ ขอเสนอการลงทุนที่จำเป็นต่อพี่น้องภาคใต้ในราคา 4.8 แสนล้านบาท ครึ่งหนึ่งของงบลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมต่อภาคใต้กับมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาด ภาคใต้เรามีพลังงานหมุนเวียน 100% 2 พันกว่าเมกะวัตต์ หากในอีก 20 ปีข้างหน้า มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ อยากลงทุนภาคใต้เราก็มีให้

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้งบประมาณดังกล่าว พัฒนาพื้นที่ชลประทานภาคใต้ 3 ล้านไร่ หรือเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์ม และผลไม้ โดยพื้นที่พัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ยังครอบคลุมพื้นที่มรดกโลก 6 แห่ง หากเดินหน้าโครงการ อาจสร้างความเสียหายกับพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ ซึ่งเต็มไปด้วยพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร

หากมีการเวนคืน ก็จะโดนพื้นที่สวนผลไม้ สวนทุเรียน มูลค่าสูงหลายหมื่นไร่ เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง น้ำมันรั่ว และอุบัติภัยทางทะเล รวมทั้งสูญเสียพื้นที่ประมง ซึ่งเป็นต้นทุนที่เราต้องจ่ายให้กับโครงการแลนด์บริดจ์ที่ประเมินมูลค่าไม่ได้

ทั้งนี้ ข้อมูลมูลค่าการท่องเที่ยวภาคใต้ที่สูงถึง 7 แสนล้านบาทต่อปี หากได้รับผลกระทบ 10% ในระยะเวลา 50 ปี อาจจะสูญเสียมูลค่าการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท แลกกับการที่ประเทศไทยเป็น Hub เรือขนส่งสินค้าเพิ่มเติมจากเส้นทางการเดินเรือหลัก การใช้ส่วนแบ่งการเดินเรือภูมิภาคมี 3 องค์ประกอบ คือ เร็วกว่า สะดวกกว่า ถูกกว่า แต่จากรายงานก็ยังอนุมานไม่ได้ว่าจะเร็วกว่าอย่างไร เพราะไม่มีรายละเอียด สะดวกกว่าอย่างไร ในเมื่อต้องมีเรือมารอทั้งสองฝั่ง ย้ายจากระบบรางเป็นรถ และกลับไปเป็นเรืออีก สินค้าเสียหายใครจะรับผิดชอบ

“คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ และรัฐบาล ต้องตอบ 3 คำถามนี้ได้ ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถรับรายงานฉบับนี้ได้” นายพิธา กล่าว

ขณะที่ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า รายงานฉบับนี้พูดแต่ผลดี แต่ไม่พูดถึงผลเสีย มีคำถามมากมายที่สำนักนโยบายและแผนการขนส่ง (สนข.) ตอบไม่ได้ เช่น ผลกระทบต่อการถมทะเล ป่าต้นน้ำหายไป ไม่ใช่ไม่อยากพัฒนาภาคใต้ แต่เคยถามคนภาคใต้หรือไม่ ว่าอยากได้อะไร

พร้อมเห็นว่า รายงานฉบับนี้ ประชุมแค่ 10 ครั้ง เป็นการมัดมือชก มีข้อบกพร่องมากมาย ไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน เป็นการพัฒนาท่ามกลางความเดือดร้อนประชาชน วิถีชีวิตชาวบ้านที่ต้องสูญเสียวิถีทำกิน ไม่ใช่เรื่องเล็ก

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การลงทุนโครงการนี้เป็นของเอกชน 100% หรือไม่ มีทางเลือกอื่นหรือไม่ หากเอกชนไม่ให้ความสนใจ และใช้หลักอะไรกับการให้สัมปทานโครงการ 50 ปี แม้โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อภาคใต้ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักมี 4 ข้อ คือ 1.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2.ค่าตอบแทนเวนคืนต้องเป็นธรรม 3.การจัดการไฟฟ้า แหล่งน้ำในพื้นที่พาดผ่าน จะจัดการอย่างไรไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ 4.การอ้างข้อมูลการจ้างงานในพื้นที่ จะหลอกชาวบ้านหรือไม่

“สิ่งที่ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นโครงการ คือ ข้อมูลหน่วยงานรัฐ มีความสมบูรณ์แบบ 100% หรือไม่ ขอให้ กมธ.วิสามัญฯ ทบทวน และฟังความเห็นต่างของ สส.ด้วย” นายณัฎฐ์ชนน ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 67)

Tags: , , , ,