ฝ่ายค้านเสนอ 4 มาตรการป้องกันเหตุซ้ำรอยยิงในสยามพารากอน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหารือถึงเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอนเมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) โดยมีข้อเสนอแนะ 4 ประการ ต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต และบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่

1) ระบบแจ้งเตือนภัย เหตุการณ์เมื่อวานนี้ ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนผ่านข้อความจากหน่วยงานรัฐ โดยต้องใช้การแจ้งเตือนจากเอกชนหรือติดตามข่าวจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ดังนั้นจึงขอหารือผ่านไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งรัดแผนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยของรัฐแบบ cell broadcasting ที่จะเป็นการส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ

2) การครอบครองอาวุธปืน แม้ปืนที่ถูกใช้ก่อเหตุจะเป็นปืนดัดแปลง แต่การที่ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมปืนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าควรมีการศึกษาทบทวนเรื่องการครอบครองปืนทั้งระบบ จึงขอหารือผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หาแนวทางปรับปรุงกฎหมายขออนุญาตปืนในระบบให้ครอบคลุมประเภทอาวุธมากขึ้นและมีกระบวนการที่รอบคอบมากขึ้น เช่น การให้ใบอนุญาตมีวันหมดอายุเพื่อต่ออายุ การเพิ่มเกณฑ์เรื่องสุขภาพจิต และปรับปรุงมาตรการปิดช่องทางค้าขายปืนนอกระบบให้มีประสิทธิภาพขึ้น

3) พฤติกรรมเลียนแบบ ตั้งแต่เกิดเหตุมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนและประวัติผู้ก่อเหตุอย่างกว้างขวาง แม้ผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยจะชี้ชัดว่าการประโคมข่าวลักษณะนี้มีความเสี่ยงจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จึงขอหารือผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สร้างความเข้าใจกับสังคมในการงดเผยแพร่เรื่องราวของผู้ก่อเหตุ เพื่อส่งสัญญาณว่าการกระทำอันอำมหิตต่อเพื่อนมนุษย์แบบนี้ จะไม่มีวันทำให้ใครก็ตาม ได้แสงหรือความสนใจ แม้แต่นิดเดียว

4) สุขภาพจิตของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หลังเกิดเหตุผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายคนอาจยังคงมีสภาพจิตใจที่ไม่เหมือนเดิม หรือมีอาการผวา ตนจึงขอหารือผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในการเข้าถึงช่องทางการฟื้นฟูและบำบัดสภาพจิตใจ

ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เหตุดังกล่าวทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะการได้มาซึ่งอาวุธปืนที่นำมาใช้ก่อเหตุในครั้งนี้ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการใช้อาวุธปืน ซึ่งใช้บังคับมาแล้วถึง 76 ปี แต่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง จึงเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย โดยเฉพาะการควบคุมตรวจสอบผู้ถือครอง จนถึงการมอบเป็นมรดกให้ลูกหลาน

กรณีการถือครองอาวุธปืนจากการได้รับมรดก กฎหมายฉบับนี้จะตกเป็นของทายาทโดยปริยาย โดยไม่มีการทดสอบ หรือผ่านการอบรมใดๆ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายว่าผู้ครอบครองอาวุธปืน จำเป็นจะต้องรายงานสถานะให้ทราบ ขายให้ใคร ผู้ใดเป็นคนครอบครอง และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเทียมอาวุธที่มีการดัดแปลงให้มีอานุภาพเหมือนอาวุธปืน

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ถือครองอาวุธปืนประมาณ 10.3 ล้านกระบอก แต่มีเพียง 6.2 ล้านกระบอกเท่านั้นที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย นั่นหมายความว่าปืนเกือบครึ่งที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นปืนเถื่อน ดังนั้นตนเห็นว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงอาวุธปืน และเร่งปราบปรามอาวุธปืนเถื่อน ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมากกว่า 76 ปี

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ที่แย่กว่านั้น คือพฤติกรรมเลียนแบบจากเหตุกราดยิงในต่างประเทศ ซึ่งทุกเหตุการณ์มีผู้สูญเสีย แต่เรากลับละเลยมาตลอด และทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สะเทือนขวัญก็จะกลับมาพูดถึงเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.อาวุธปืน แล้วก็เงียบหายไปวนลูปอยู่แบบนี้ โดยที่ไม่มีการปฏิรูป หรือไล่รื้อ กฎหมายที่ล้าหลังฉบับนี้อย่างจริงจัง

พรรคไทยสร้างไทยยินดีที่จะสนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ โดยจะร่วมกันทั้งในและนอกสภา แม้การแก้ไข พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ต้องใช้เวลาตามกระบวนการประมาณ 3 ปีก็ตาม แต่หากทุกฝ่ายร่วมใจกันผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างจริงจัง ก็เชื่อว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงให้สำเร็จได้ ซึ่งจะช่วยปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้อีกมาก

ขณะเดียวกันพรรคไทยสร้างไทยขอเสนอให้หน่วยงานของรัฐที่รักษาความปลอดภัยในที่สาธารณะใช้ระบบเทคโนโลยีมาช่วย ที่สำคัญต้องทำระบบ emergencyalert ส่ง SMS แจ้งเตือน เหตุร้ายมายังโทรศัพท์มือถือของประชาชน ให้ประชาชนทราบข่าวสารให้เร็วที่สุด รวมทั้งการให้คำแนะนำอย่างถูกต้องต่อการรับมือสถานการณ์ในขณะที่ประชาชนอยู่ในห้วงตระหนกตกใจ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยาก โปรดเร่งสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยทุกคน

รวมทั้งต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมั่นใจว่ามาเที่ยวประเทศไทยจะได้รับการดูแลให้ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะการท่องเที่ยวคือลมหายใจสุดท้ายของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 66)

Tags: ,