ฝนตกหนักกระหน่ำพื้นที่ชายฝั่งทะเลอาหรับของอินเดียและปากีสถาน ทำให้น้ำท่วมเมืองต่าง ๆ ในรัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย และบังคับให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน โดยทางการคาดว่าจะเกิดพายุไซโคลนขึ้นภายในวันศุกร์นี้ (30 ส.ค.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประชาชนต้องลุยน้ำที่ท่วมสูงระดับเอว ซึ่งทำให้ยวดยานพาหนะและถนนหลายสายจมอยู่ใต้น้ำบางส่วนในหลายพื้นที่ของรัฐ
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 28 รายในสัปดาห์นี้จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับฝนในรัฐ ขณะเดียวกัน นักอุตุนิยมวิทยาในอินเดียและปากีสถานซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ได้แจ้งเตือนว่า คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงพัดถล่มชายฝั่งเพิ่มขึ้นอีก
“ไฟฟ้าดับมาสองวันแล้วครับ” ประภู ราม โซนี ชาวเมืองชัมนคร ริมชายฝั่งรัฐคุชราต กล่าว “ผมมีลูกสาววัย 8 เดือน และแม่ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด ต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจอยู่ครับ”
หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยแถลงว่า มีการอพยพประชาชนมากกว่า 18,000 คน ออกจากเมืองชายฝั่งทะเลตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ส.ค.) กองทัพก็ได้เข้าร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือในรัฐที่เคยได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนบีปอร์จอย (Biparjoy) เมื่อปีที่แล้ว พายุหมุนดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน และทำให้ต้องอพยพประชาชนมากกว่า 180,000 คน
บี.เค. ปันทยา นายอำเภอชัมนคร ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ฝนยังโหมกระหน่ำถล่มเมืองชัมนคร อันเป็นที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมันอันกว้างใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งบริษัทรีไลแอนซ์ (Reliance) เป็นเจ้าของ
ในบริเวณใกล้เคียงกัน ณ วดีนาร์ บริษัทนายารา เอเนอร์จี (Nayara Energy) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนรัสเซีย ซึ่งรวมถึงรอสเนฟต์ (Rosneft) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ยังดำเนินกิจการโรงกลั่นน้ำมันอีกแห่งหนึ่ง
เมื่อถูกสอบถามถึงผลกระทบของฝนต่อการดำเนินงานของโรงกลั่นดังกล่าว ปันทยายืนยันว่า “ยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ” พร้อมเสริมว่า ขณะนี้ทางการกำลังทุ่มเทความพยายามในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) ระบุว่า พายุดีเปรสชันแรงบริเวณนอกชายฝั่งรัฐคุชราตคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนภายในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ตาม พยากรณ์ว่า พายุลูกดังกล่าวมีแนวโน้มเคลื่อนตัวออกห่างจากชายฝั่งอินเดียภายในสองวันข้างหน้า
ในปากีสถาน กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนมิให้ชาวประมงออกเรือจนกว่าจะถึงวันเสาร์ (31 ส.ค.)
IMD คาดการณ์ว่าในวันศุกร์นี้ เขตภรุจ กัจฉ์ และเสาราษฏร์ ของรัฐคุชราตจะมีฝนตกหนักมาก
นอกจากนี้ สื่อมวลชนรายงานว่า เมืองท่าการาจีของปากีสถานก็เผชิญกับภาวะฝนกระหน่ำจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง
ทางการปากีสถานยังได้ประกาศเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันในสองเขตของแคว้นสินธ์ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งยังคงอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2565 ซึ่งท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 67)
Tags: ปากีสถาน, ฝนตก, พายุไซโคลน, อินเดีย