ผ่านฉลุย! สภาฯ รับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับ

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ (22 ธ.ค.) ลงมติรับหลักการวาระแรก ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับ ทั้งฉบับของคณะรัฐมนตรี, ฉบับของพรรคก้าวไกล, ฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ และฉบับของภาคประชาชน ในนามภาคีสีรุ้ง ด้วยคะแนน 369 ต่อ 10 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย ในวาระ 2 จำนวน 39 คน กำหนดแปรญัตติใน 15 วัน

ทั้งนี้ ก่อนการลงมติรับหลักการในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้มี สส.จากหลายพรรคการเมือง เกือบ 50 คน ร่วมลงชื่อเพื่อขออภิปรายก่อนการรับหลักการ โดยส่วนใหญ่ที่อภิปรายต่างพร้อมสนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยยกความจำเป็นของสังคมที่มีความหลากหลาย และมีบุคคลที่ต้องการได้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองตามหลักความเสมอภาคเท่าเทียม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

อย่างไรก็ดี สส.จากพรรคประชาชาติ ได้อภิปรายคัดค้าน เช่น นายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา และนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส โดยยืนยันในเจตนาตามหลักการทางศาสนา ที่ยึดถือการครองคู่จะต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น พร้อมแสดงเหตุผลที่จะไม่รับหลักการของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยกเว้นฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เพราะมีการกำหนดบทงดเว้นการบังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ที่เป็นพรรคสนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้ลุกขึ้นอภิปรายโดย น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมมานนท์ สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ได้ขอเรียกร้องให้ผู้ที่เป็นชาวมุสลิม รับหลักการของร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพราะกฎหมายนี้ ร่างขึ้นเพื่อต้องการคุ้มครองสิทธิทางทรัพย์สินคู่สมรสของคู่รัก ทุกเพศ ทุกวัย ให้ได้รับการรับรองสิทธิอย่างเสมอภาค

เช่นเดียวกับนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เคารพความเห็นต่างในหลักการทางศาสนา และความศรัทธา และพร้อมรับฟังรายละเอียดต่างๆ อย่างไรก็ดี เห็นว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่มีเฉพาะประเด็นเรื่องการสมรสเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิด้วย

ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้ ผ่านการพิจารณาชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ยังไม่ทันจะลงมติรายมาตราในวาระ 2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกาศยุบสภาไปก่อน

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า หากร่างกฎหมาย หรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม ที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จทุกกระบวนการ ก็จะเป็นอันตกไป ถ้ามีการยุบสภา แต่มีข้อยกเว้นว่า ร่างกฎหมายเหล่านั้นจะมีทางไปต่อได้ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ร้องขอให้รัฐสภา, สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา พิจารณาร่างกฎหมายนั้นต่อไป โดยเงื่อนไขสำคัญคือ ครม. จะต้องร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก โดยวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก คือวันที่ 13 ก.ค.66

แต่เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ราบรื่น ทำให้ ครม. ไม่ได้ร้องขอรัฐสภาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ทำให้ร่างกฎหมายที่ค้างท่อจากสภาฯ ชุดที่แล้ว รวมถึงร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จึงไม่ได้นำมาพิจารณาต่อจากเดิม และนำมาสู่การต้องเริ่มเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาฯ อีกครั้ง

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ทวีตแสดงความยินดีที่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการโหวตวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนท่วมท้น

“ผมขอแสดงความยินดีกับพี่น้อง LGBTQIA+ ทุกท่านที่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการโหวตวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนท่วมท้น วันนี้ ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นแล้วครับ”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 66)

Tags: ,