ผู้เลี้ยงหมูภาคเหนือโอดต้นทุนพุ่ง วอนแบงก์ปล่อยสินเชื่อช่วยต่อลมหายใจ

นายสนั่น พยัคฆศักดิ์ ประธานกรรมการ สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุดในอาชีพ จากผลกระทบของภาวะโรคในสุกร โดยเกษตรกรในภาคเหนือต้องหยุดการเลี้ยงสุกรไปแล้วมากกว่า 80% เหลือเพียง 20% ที่สามารถเลี้ยงสุกรได้ต่อไป แต่การเข้าเลี้ยงไม่เต็มกำลังการผลิต เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากภาวะโรค ทำให้ปริมาณผลผลิตสุกรขุนในเขตภาคเหนือขาดแคลนอย่างหนัก

ขณะเดียวกัน ผู้เลี้ยงต้องใช้เงินลงทุนในระบบป้องกันโรค หรือ Biosecurity สูงมาก ทำให้มีต้นทุนส่วนนี้เพิ่มถึงตัวละ 500 บาท ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าวโพดอาหารสัตว์ที่สูงถึง 10.60 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลืองนำเข้าขึ้นไป 19.50 บาทต่อกิโลกรัม และปลายข้าวกิโลกรัมละ 11 บาท ส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยมีต้นทุนสูงถึง 100-120 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว

ที่สำคัญ แม้ว่าจะหยุดการเลี้ยงสุกรก็ตาม แต่การป้องกันโรคยังคงต้องดำเนินการต่อไป โดยผู้เลี้ยงต้องบริหารจัดการ ทั้งเรื่องความสะอาดและการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-12 เดือน จึงจะสามารถกลับเข้าเลี้ยงสุกรได้ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาสร้างความเสียหายให้กับฝูงสุกรที่จะเข้าเลี้ยงใหม่ เท่ากับว่าเกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตต่อไป แม้ฟาร์มจะไม่มีผลผลิตแล้วก็ตาม

“ขณะนี้เกษตรกรไม่มีหมูขาย ปริมาณหมูที่ลดลงไปกว่า 80% จากการที่ต้องเลิกเลี้ยงหรือหยุดการเลี้ยงไว้ก่อน แต่ต้นทุนการป้องกันโรคกลับวิ่งอยู่ตลอดเวลา ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ ขาดเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ จากภาระหนี้สินสะสมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และหนักที่สุดในช่วงปีนี้ที่การเลี้ยงหมูต้องหยุดชะงัก ทำให้ไม่สามารถขอกู้เงินในระบบได้ เพราะสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากขาดรายได้ และไม่มีหลักประกันในอาชีพ เกษตรกรจึงขาดที่พึ่ง ไม่มีแรงสู้ต่อกับอาชีพเลี้ยงหมู หากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเช่นนี้ ก็ยิ่งกระทบกับปริมาณหมูที่ลดลงมากยิ่งขึ้น และย่อมกระทบกับความมั่นคงทางอาหารโปรตีนของประเทศ” 

นายสนั่น กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ เข้ามาสวมเป็นสุกรไทย เพื่อจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ที่กำลังสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย รวมทั้งในแง่เศรษฐกิจ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีอากร และความเสี่ยงของผู้บริโภคจากสารเร่งเนื้อแดงที่อาจปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์หมูต่างประเทศ

ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกว่า 2 แสนราย และเกษตรกรในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ มีความเสี่ยงในอาชีพจากกลไกสินค้าที่ถูกบิดเบือน เพราะผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างประเทศที่ลักลอบจำหน่ายในขณะนี้ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งกวาดล้างขบวนการดังกล่าวให้หมดไปโดยเร็วที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , ,