ผู้ว่าฯ กทม. จ่อเสนอสภากทม.พิจารณาจ่ายหนี้สายสีเขียวบางส่วน-เร่งรบ.สนับสนุน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมหารือกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และคณะผู้บริหาร ถึงแนวทางในการเดินหน้าและหาทางออกปัญหาเรื่องภาระหนี้รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว

นายชัชชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ BTS ได้มาหารือเรื่องกรณีค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ที่ครบกำหนดชำระ ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ได้เตรียมตัวอยู่แล้ว โดยมีกระบวนการในการดำเนินการทั้งหมด 2 ขั้นตอนที่ต้องไปดำเนินการต่อ คือ

1. เรื่องที่บริษัท กรุงเทพธนาคม (KT) จ้าง BTS เดินรถ ซึ่งขณะนั้น กทม. มอบหมายให้ KT เป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการได้คือต้องให้สภากทม. อนุมัติก่อน

2. หากจะชำระเงินก็ต้องใช้เงินที่เป็นเงินสะสมมาจ่ายขาด ซึ่งในสภากทม. ต้องพิจารณา

นายชัชชาติ กล่าวว่า ทั้งสองเรื่องคือเรื่องที่ต้องนำเข้าสภากทม. ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้ และมีการประชุมไป 5 ครั้งแล้ว ในเรื่องรายละเอียดต่างๆ ถ้าเปิดสภากทม. สมัยหน้าก็สามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภากทม. ได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรในการชำระเงินส่วนนี้

“ทุกคนก็เห็นว่ามีการดำเนินการแล้ว รถก็วิ่งแล้ว ระบบต่างๆ ก็ติดตั้งแล้ว เหลือรายละเอียดว่าการปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาจะทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องด้วยความรอบคอบ อย่างไรก็ดี เห็นใจเอกชนที่ดำเนินการอยู่ แต่เป็นระเบียบปฏิบัติ ซึ่งทั้งฝ่ายบริหารของกทม. และสภากทม. เข้ามาหลังจากมีการดำเนินการไปแล้ว ดังนั้น ทำอย่างไรให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบระเบียบ ซึ่งในบางเรื่องมีความซับซ้อนสภากทม. ก็ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งได้มีการศึกษาในระดับหนึ่งแล้วและคาดว่าจะสามารถเดินหน้าต่อได้”

นายชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ กทม. จะดำเนินการพร้อมกัน 2 ทาง คือ 1. นำเรื่องเข้าสภากทม. เกี่ยวกับการชำระหนี้ คาดว่าสมัยการประชุมนี้น่าจะพร้อม เนื่องจากศึกษากันมาพอสมควร และ 2. ติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง ซึ่งกทม. ได้ทำหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทยในหลายประเด็น ดังนี้

– ให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และค่า E&M เนื่องจากเมื่อครั้งที่ ม.44 มอบหมายให้กทม. เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย โดยก่อนหน้านี้เคยมีมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้กทม. กับรัฐบาลหารือเรื่องการแบ่งความรับผิดชอบ เนื่องจากกทม. มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว

– เรื่องที่ค้างอยู่ตามม.44 เป็นประเด็นเรื่องมูลหนี้ E&M อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ ซึ่งกทม. ได้ส่งเรื่องไปให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ครม. พิจารณามติมูลหนี้ ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ จะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังค้างอยู่ในครม. ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งกทม. จะส่งจดหมายไปที่กระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง เพื่อสอบถามและเร่งรัดทางครม. ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร พร้อมส่งรายละเอียดอธิบายว่ากทม. จะดำเนินการอย่างไรต่อไปในอนาคต

“ถามไปแล้วว่าตกลงครม. จะเอาอย่างไรสัญญาสัมปทานเรื่องม.44 แต่ก็ยังไม่มีข้อยุติออกมาเลยเป็นเวลาหลายปีแล้ว ว่าตกลงจะเดินต่อ หรือจะหยุด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้ครม. ช่วยดู โดย กทม. ก็คงจะเร่งรัดทางครม. ไปด้วยว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งก็เห็นใจทางเอกชนด้วยเพราะมีภาระหนี้เยอะ และ BTS ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเรื่องการเดินทาง มีคนใช้ 1 ล้านคน/วัน แต่ก็เป็นเรื่องข้อระเบียบของราชการที่ต้องมีการดำเนินการที่ถูกต้อง ก็ขอความเข้าใจจากบริษัทด้วยร่วมกัน”

นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม. เข้าใจกระบวนการมาโดยตลอด วันนี้กทม. ได้อธิบายกระบวนการให้ BTS เข้าใจ เนื่องจากการอนุมัติต่างๆ ฝ่ายบริหารไม่ได้มีอำนาจ ต้องมีการพูดคุยกับสภากทม. ทั้งเรื่องสัญญาที่ก่อหนี้ผูกพัน และเงินคงเหลือของกทม. มาจ่ายหนี้ ซึ่งการดำเนินการต่อจากนี้จะนำเรื่องเข้าสภากทม. และดูว่ามีความเห็นอย่างไร

ปัจจุบันหนี้ทั้งหมดของรถไฟฟ้าสีเขียวอยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมหนี้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลด้วยทั้ง E&M และรับจ้างเดินรถ-พัฒนาระบบรถไฟฟ้า (O&M) ซึ่งหนี้ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานได้ขอให้รัฐบาลช่วย เพราะรถไฟฟ้าทุกสายรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ซึ่งยังไม่มีการตอบรับจากทางรัฐบาล

“ได้ขอให้รัฐบาลช่วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และ E&M รวมถึงคำสั่งของม.44 ที่ให้ไปติดตั้งระบบรถไฟต่างๆ ซึ่งตอนนั้นไม่ได้สั่งผ่านสภากทม. เป็นคำสั่งที่ให้กทม. ติดตั้งเลย ถ้ารัฐบาลช่วยก็จบง่าย ประโยชน์รัฐบาลก็ได้ ทั้งเรื่องการเก็บภาษีเพิ่ม รายได้ การจราจร”

นายชัชชาติ กล่าว

ด้านนายคีรี กล่าวว่า ขอบคุณกทม. และคณะทำงานที่เข้าใจเอกชนที่รับภาระมาเป็นเวลา 4 ปี วันนี้ได้ทำความเข้าใจว่าต้องแบ่งเป็นสองส่วนคือ

1. E&M ที่รับเหมาไปและถึงเวลาจ่ายหนี้ โดย E&M ได้ติดตั้งใช้งาน และกทม. ได้เซ็นรับเรียบร้อย และถึงเวลาต้องชำระหนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้กทม. จะนำเข้าสภากทม. ในช่วงต้นเดือนหน้า

2. O&M รับจ้างเดินรถ-พัฒนาระบบรถไฟฟ้า อยู่ในม.44 อยู่ในครม. ซึ่งไม่ทราบว่ารัฐบาลรักษาการจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง

“ม.44 ที่ได้มีการเจรจามาเป็นเวลาปีกว่า ไม่ได้ผ่านในรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งจริงๆ มีรัฐมนตรีคมนาคมคอยแย้งอยู่ ซึ่งตอนนี้ไม่อยู่แล้ว คิดว่าคมนาคมอาจมีความเข้าใจมากขึ้น ถ้าหากรัฐบาลรักษาการนี้จะทำให้เรื่องนี้จบ ซึ่งเป็นเงินอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ถ้าทำได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็รอรัฐบาลหน้า ส่วนตอนนี้ไม่มีอะไรติดใจ วันนี้มาคุยกับกทม. ให้เห็นใจเรา หนี้สินก้อนนี้เกิน 5 หมื่นล้านบาทแล้ว วันนี้เชื่อว่าเราได้เข้าใจกันแล้ว E&M เป็นตัวเลขในสัญญาที่ครบกำหนดในการชำระ ซึ่ง กทม. ก็จะนำเรื่องเข้าสภากทม. เพื่อเห็นชอบและอนุมัติชำระเงินก้อนนี้”

นายคีรี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 66)

Tags: , , , ,