ผู้ป่วยบัตรทองที่รับผลกระทบจากการรักษา มีสิทธิได้เงินเยียวยา อย่าลืม! ยื่นเรื่องใน 2 ปี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง) รัฐบาลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งดำเนินการเพื่อประโยชน์บริการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชนผู้มีสิทธิอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน แต่โอกาสที่จะเกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากการรับบริการย่อมเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีมาตรการรองรับเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการเข้ารับบริการ และเป็นการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ป่วยหากเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดความขัดแย้งและการฟ้องร้องระหว่างผู้รับบริการ และผู้ให้บริการในระบบสุขภาพได้

นายคารม กล่าวว่า รัฐบาล โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดประเภทความเสียหายและอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็น 3 กรณี คือ

– กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท

– กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท

– กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลา ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย

“ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยได้ที่ หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ในจังหวัดที่เกิดเหตุ) หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1-13 หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) “ศูนย์สิทธิบัตรทอง” และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร สามารถสอบถามเพิ่มเติมที่ สายด่วน สปสช.โทร1330″ นายคารม ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ย. 66)

Tags: , ,