ปรากฏการณ์เอลนีโญถือเป็นข่าวร้ายสำหรับโกโก้ซึ่งเป็นพืชที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสูง โดยเหตุการณ์สภาพอากาศแบบสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากผลพวงของเอลนีโญและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตโกโก้ ขณะเดียวกันอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและฝนที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นอีกปัจจัยที่อาจทำลายพัฒนาการของผลโกโก้ ทั้งยังกระตุ้นให้ศัตรูพืชและโรคแพร่กระจาย
ข้อมูลจากรายงานคาดการณ์เอลนีโญ – ความผันแปรของระบบอากาศบริเวณซีกโลกใต้ (El Nino-Southern Oscillation Outlook) ฉบับล่าสุดระบุว่า เอลนีโญมีแนวโน้มจะยืดเยื้อไปถึงเดือนม.ค.–มี.ค. 2567 โดยมีโอกาสถึง 71% ที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนพ.ย. 2566–ม.ค. 2567
ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทวีความรุนแรงและถี่ จะลดจำนวนพื้นที่เพาะปลูกโกโก้ลงไปอย่างมาก โดยกรณีดังกล่าวไม่เพียงคุกคามความมั่นคงทางอาหาร แต่ยังเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของเหล่าเกษตรกรด้วย โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในประเทศแถบแอฟริกากลาง ซึ่งเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วมากที่สุด
“เมื่อพิจารณาจากอดีตแล้วจะพบว่า มีบ่อยครั้งที่ปรากฏการณ์เอลนีโญนั้นเกี่ยวพันกับสภาพอากาศที่แห้งขึ้นในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตโกโก้มากถึง 3 ใน 4 ของโลก” นายโจนาธาน เฮนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทโกร อินเทลลิเจนซ์ (Gro Intelligence) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี
องค์การโกโก้ระหว่างประเทศระบุว่า แอฟริกาคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 75% ของการผลิตโกโก้ทั่วโลก ขณะที่ทวีปอเมริกาซึ่งรวมถึงบราซิลและเอกวาดอร์ คิดเป็นสัดส่วน 20% ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผลิตโกโก้ 5% โดยอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินีเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 66)
Tags: สภาพภูมิอากาศ, เอลนีโญ, โกโก้