ผู้บริหาร Nippon Steel เผย แผนซื้อ US Steel ได้เสียงหนุนจากพื้นที่อุตฯเหล็กในสหรัฐฯ

ทาดาชิ อิมาอิ ประธานบริษัทนิปปอน สตีล (Nippon Steel) แห่งญี่ปุ่น เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวในวันนี้ (25 ธ.ค.) ว่า ข้อเสนอเข้าซื้อกิจการยูเอส สตีล (United States Steel Corp) กำลังได้รับเสียงสนับสนุนจากพื้นที่ต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ที่มีโรงงานเหล็กกล้าตั้งอยู่

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (23 ธ.ค.) คณะกรรมการการลงทุนต่างประเทศในสหรัฐฯ (CFIUS) ได้ส่งเรื่องไปให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะอนุมัติหรือระงับดีลมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐครั้งนี้ โดยมีกำหนดเวลาตัดสินใจ 15 วัน

ทั้งไบเดนและว่าที่ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ต่างแสดงจุดยืนคัดค้านดีลดังกล่าว

ในวันนี้ อิมาอิย้ำว่า นิปปอน สตีล ได้แสดงความมุ่งมั่นหลายประการเพื่อคลายข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติของ CFIUS พร้อมเสริมว่าเขาเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายเริ่มมี “ความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น”

“ชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีโรงงานเหล็กกล้าตั้งอยู่ ต่างให้การสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ผมหวังว่าปธน.ไบเดนจะเข้าใจถึง … คุณค่าที่ดีลนี้จะมอบให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ” อิมาอิกล่าว

ก่อนหน้านี้ ทั้งสองบริษัทเคยประกาศว่ามีแผนจะปิดดีลให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี 2567 แม้จะเผชิญแรงต้านจากสหภาพแรงงานเหล็กกล้าสหรัฐฯ (USW) ที่ทรงอิทธิพลก็ตาม

ในวันนี้ นิปปอน สตีล ได้เผยจดหมายลงวันที่ 23 ธ.ค. ถึงปธน.ไบเดน ซึ่งมีลายเซ็นของเจ้าหน้าที่เทศบาลสหรัฐฯ กว่า 20 รายจากพื้นที่ที่มีโรงงานยูเอส สตีล ตั้งอยู่ โดยวอนขอให้อนุมัติดีลการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้

“เราขอวิงวอนให้ท่านรับฟังเสียงของคนงานเหล็กกล้าและผู้ที่ชะตาชีวิตผูกติดอยู่กับยูเอส สตีล พวกเขาต่างพูดดัง ๆ เป็นเสียงเดียวกันว่าข้อตกลงนี้ต้องได้รับการอนุมัติ” จดหมายระบุ

ด้านสหภาพ USW ได้ออกแถลงการณ์แยกต่างหาก ระบุว่าได้พบกับเจ้าหน้าที่ของนิปปอน สตีล 2 ครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมย้ำจุดยืนว่าผู้ผลิตเหล็กกล้าญี่ปุ่นรายนี้ไม่ได้ใส่ใจความอยู่รอดระยะยาวของโรงงานยูเอส สตีล หรือการดำเนินงานเตาหลอม และเรียกร้องให้ปธน.ไบเดนรักษาบริษัทให้อยู่ภายใต้การเป็นเจ้าของและดำเนินการโดยคนสหรัฐฯ

เพื่อให้ได้รับการสนับสนุน นิปปอน สตีล เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ใช้ดีลนี้เป็นช่องทางนำเข้าเหล็กกล้า พร้อมให้คำมั่นหลายประการในการปกป้องการจ้างงานและลงทุนในโรงงานสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 67)

Tags: , ,