ผู้นำกลุ่ม G7 เห็นชอบกับความจำเป็นในการกำกับดูแลด้านปัญญาประดิษฐ์ (generative AI) โดยแสดงความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเชื่อว่าจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อรับประกันการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบและจริยธรรมเพื่อประโยชน์ของสังคม
ผู้นำ G7 ระบุในแถลงการณ์ของการประชุมสุดยอดเมื่อวันศุกร์ (19 พ.ค.) ว่า G7 เห็นชอบในการจัดตั้ง “กระบวนการฮิโรชิมา” (Hiroshima Process) ซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ จะจัดการหารือระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับ AI และรายงานผลในช่วงสิ้นปี
เพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนา AI นั้นมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและเชื่อถือได้นั้น นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นจึงขอความร่วมมือเพื่อเข้าถึงกระแสข้อมูลข้ามพรมแดนที่ปลอดภัย โดยให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ความพยายามดังกล่าว
ผู้นำอุตสาหกรรมและผู้นำรัฐบาลทั่วโลกได้เรียกร้องให้มีการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบมากขึ้นกับ AI หลังจากที่แชตจีพีที (ChatGPT) ซึ่งเป็น AI ของบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) แซงหน้าบริษัทอื่น ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ มีความวิตกว่า ความก้าวหน้าของ AI ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบนั้นจะสร้างความเสี่ยง โดย AI สามารถสร้างข้อความ, รูปภาพและวิดีโอที่น่าเชื่อถือซึ่งดูเหมือนว่าทำขึ้นโดยมนุษย์ ดังนั้น เทคโนโลยีนี้ หากถูกใช้ในทางที่ผิด อาจเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ และทำให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง
ด้านนายแซม อัลท์แมน ซีอีโอของโอเพนเอไอ และนางคริสติน่า มอนต์โกเมอรี่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความเป็นส่วนตัวและความน่าเชื่อถือของ IBM ได้เรียกร้องให้วุฒิสมาชิกสหรัฐบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับ AI เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 66)
Tags: G7, กระบวนการฮิโรชิมา, ปัญญาประดิษฐ์