นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 6 ในเดือน พ.ค.64 ในหัวข้อ “มาตรการเยียวยาแบบไหนถูกใจ SME” ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 170 คน ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ 89.4% มองว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากกว่าการแพร่ระบาดในปี 2563
ทั้งนี้ ได้ประเมินว่าจากแผนการใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะสามารถช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงใด โดยส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี 2565 รองลงมาเป็นช่วงปลายปี 2565 และมองว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และตามด้วยคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี 2564
และมองว่า ควรนำเงินดังกล่าวไปใช้ในเรื่องใด 3 อันดับแรก คือ
- การฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
- การช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
- แก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19
สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SME ของภาครัฐในปัจจุบันที่ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของ SME ได้ 3 อันดับแรก คือ
- มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เช่น คนละครึ่งเฟส 3, เราชนะ, ม.33, ขยายวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เป็นต้น
- .มาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม เหลือฝั่งละ 2.5% เป็นเวลา 3 เดือน
- มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อสู้ภัย COVID-19
อย่างไรก็ตามผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่าภาครัฐยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ SME เพิ่มเติม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ โดย 3 อันดับแรก คือ
- มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภค 30%
- การลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการและค่าส่วนกลางของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า พื้นที่เช่าโรงงาน ลง 50% โดยผู้ให้เช่าสามารถนำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีในรอบบัญชีถัดไปได้
- การขยายระยะเวลาจัดเก็บภาษี VAT และเร่งคืนเงินภาษี VAT ให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ส่งออก ภายใน 15 วัน และการอนุญาตให้นิติบุคคลที่เป็น SME เข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐได้
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุด SME ไทยควรให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคตเรื่องใดบ้าง พบว่า 3 อันดับแรก คือ
- ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ
- การพัฒนาทักษะแรงงาน และเพิ่ม Multi Skill ให้กับแรงงานในสถานประกอบการ
- การบริหารจัดการด้านการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 64)
Tags: FTI Poll, SME, VAT, ผลสำรวจ, ผู้ประกอบการ, ภาษี, มาตรการเยียวยา, วิรัตน์ เอื้อนฤมิต, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย