ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือน เม.ย.65 ดังนี้
(1) ผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) ในเดือน เม.ย.65
– ในเดือน เม.ย.65 ระดับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยภาคการค้าและการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ภาคการผลิต อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างยังถูกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น
– จำนวนแรงงานโดยรวมทรงตัว ขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนในภาคการค้าและการท่องเที่ยว
– สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ธุรกิจครึ่งหนึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่คาดว่าจะยังไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยธุรกิจส่วนใหญ่ในภาคการผลิตคาดว่าจะแบกรับต้นทุนได้อีกราว 3-6 เดือน ขณะที่ธุรกิจบริการส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์อื่นแทนการปรับขึ้นราคา อาทิ ลดโปรโมชั่น ลดต้นทุน
(2) ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือน มี.ค.65 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
– ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งภาวะปัจจุบัน และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อที่อยู่ในระดับต่ำและค่าครองชีพที่สูงขึ้นยังคงกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก
– ประเด็นพิเศษ พบว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ปรับดีขึ้นยังจำกัดอยู่เฉพาะในหมวดสินค้าจำเป็น และสินค้าที่มีโปรโมชั่น จากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสินค้าขั้นพื้นฐานหลายหมวดปรับแพงขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 65)
Tags: lifestyle, ค้าปลีก, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ผลสำรวจ, ภาคธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย