ผลสำรวจล่าสุดจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุในวันนี้ (16 ม.ค.) ว่า 2 ใน 3 ของบริษัทญี่ปุ่นกำลังเผชิญผลกระทบทางธุรกิจจากวิกฤตขาดแคลนแรงงาน ท่ามกลางจำนวนประชากรลดลงและสังคมเข้าสู่ภาวะสูงวัยอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานกำลังพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในภาคบริการและธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งสร้างความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผลสำรวจพบว่า 66% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานในระดับรุนแรงหรือค่อนข้างรุนแรง ในขณะที่ 32% กล่าวว่าได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยสินเชื่อ เทโกกุ ดาต้าแบงก์ (Teikoku Databank) ระบุว่า จำนวนบริษัทที่ล้มละลายจากการขาดแคลนแรงงานในปี 2567 พุ่งขึ้น 32% เมื่อเทียบรายปี และแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 342 แห่ง
เมื่อถามถึงมาตรการรับมือการขาดแคลนแรงงาน 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่ากำลังเร่งรับบัณฑิตจบใหม่มากขึ้น ขณะที่ 59% ใช้มาตรการอื่น ๆ เช่น ขยายอายุเกษียณ หรือเชิญผู้เกษียณกลับมาทำงาน
สำหรับแผนการลงทุนในปี 2568 บริษัทที่ตอบแบบสอบถาม 69% ระบุว่าจะลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ และ 63% เลือกที่จะลงทุนในการขึ้นค่าจ้างและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
การสำรวจครั้งนี้จัดทำโดยบริษัทนิกเกอิ รีเสิร์ช ซึ่งได้ส่งแบบสอบถามไปยังบริษัท 505 แห่งระหว่างวันที่ 24 ธ.ค. 2567 -10 ม.ค. 2568 โดยมีบริษัทจำนวน 235 แห่งตอบแบบสอบถามดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 68)