ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยผลการระบุว่า ภาคครัวเรือนญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศจะดีดตัวขึ้นในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกอาจมีผลต่อมุมมองของญี่ปุ่นซึ่งเผชิญกับภาวะเงินฝืดมาเป็นเวลานาน
การสำรวจของ BOJ พบว่าอัตราส่วนของครัวเรือนญี่ปุ่นที่คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มสูงขึ้นไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 68.2% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 66.8% ในไตรมาสก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าประชาชนจะมีมุมมองเช่นนี้นานเพียงใด โดยอัตราส่วนของครัวเรือนที่มองว่าราคาผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น 5 ปีนับจากนี้ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 78.1% ในไตรมาส 3 จากระดับ 79.3% ในไตรมาส 2
การสำรวจของ BOJ พบว่ามีครัวเรือนจำนวนมากขึ้นคาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะย่ำแย่ลงในอีก 1 ปีต่อจากนี้ ซึ่งตอกย้ำความกังวลที่ว่าผลกระทบที่ยืดเยื้อของโควิด-19 อาจฉุดการบริโภค
ทั้งนี้ มีสัญญาณบ่งชี้ว่าภาคครัวเรือนญี่ปุ่นรู้สึกถึงผลกระทบจากต้นทุนค่าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น โดย 61.5% กล่าวว่าพวกเขาพบว่าราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราส่วนของครัวเรือนที่มีความเห็นดังกล่าว 56.4% ในไตรมาส 2
เจ้าหน้าที่ BOJ ได้ทำการสำรวจครัวเรือนจำนวน 2,209 ครัวเรือนระหว่างวันที่ 6 ส.ค. – 1 ก.ย.ที่ผ่านมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 64)
Tags: BOJ, ญี่ปุ่น, ดัชนีราคาผู้บริโภค, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, อัตราเงินเฟ้อ, เศรษฐกิจญี่ปุ่น