สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากวารสารการแพทย์สหรัฐ ซึ่งประเมินความเสียหายของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน ที่ระบุว่า การประกาศยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดอย่างฉับพลันในเดือน ธ.ค. 2565 นั้น ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินพุ่งเกือบ 1.9 ล้านคน ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน
วารสารการแพทย์จีเอเอ็มเอ เน็ตเวิร์ก โอเพ่น (JAMA Network Open) ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวนับเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีอายุเกิน 30 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างเดือนธ.ค. 2565 – ม.ค. 2566 เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในสถานพยาบาลต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธ.ค. 2565 ถึงกลางเดือนม.ค. 2566 อยู่ประมาณ 60,000 ราย
การรายงานของวารสารการแพทย์ดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิจัยเชิงวิชาการและกลุ่มสุขภาพอื่น ๆ ที่คำนวณอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินที่จะเกิดขึ้นในจีน หากยุตินโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างฉับพลัน โดยจีนได้ยุติมาตรการติดตามหาเชื้อไวรัส ซึ่งส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตหลังจากยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์มีความไม่แน่นอน
นายโจเซฟ อุนเกอร์ ผู้เขียนอาวุโสของรายงานฉบับนี้ และนักวิจัยด้านชีวสถิติและบริการสาธารณสุข ประจำศูนย์โรคมะเร็งเฟรด ฮัทชินสัน ในเมืองซีแอตเทิล กล่าวว่า “แม้จีนจะเป็นสถานที่แรกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดเป็นระยะเวลานาน” พร้อมเสริมว่า “ด้วยความที่ประชากรจีนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อไวรัส
ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตสะสมจากโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป อยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านราย โดยสหรัฐเป็นประเทศที่มีการรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 66)
Tags: จีน, นโยบายโควิดเป็นศูนย์, ผู้เสียชีวิต, สหรัฐ, โควิด-19