นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ชี้แจงเหตุผลในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 1.35 แสนรายชื่อว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นกลาง ไม่มีการครอบงำ และกติกาเป็นกลางไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบกว่ากัน ดังนั้นจึงขอความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา หากสมาชิกเห็นชอบวาระที่ 1 ยังมีโอกาสปรับปรุงในวาระที่ 2 และหากผ่านไปวาระ 3 หากไม่เห็นด้วยยังมีโอกาสร้องศาลรัฐธรรมนูญ และทำประชามติตอนจบได้
สำหรับในประเด็นการยกเลิกวุฒิสภา ให้ประเทศไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว ได้เสนอการเพิ่มเติมบทบาทของฝ่ายค้าน และบทบาทของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีข้อเสนอให้ประเทศไทยควรใช้ระบบสภาเดี่ยว เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขฉบับนี้ จึงจำเป็นที่ต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้นมากกว่าเดิม เช่น 1. กำหนดว่ารองประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างน้อย 1 คนจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่ายค้าน 2. กำหนดว่าประธานกรรมมาธิการสามัญในคณะสำคัญ ที่มีบทบาทในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินอย่างน้อย 5 คณะ จะต้องยกตำแหน่งให้สภาผู้แทนราษฎรจากฝ่ายค้าน และ 3. การแบ่งสรรปันส่วนประธานกรรมมาธิการวิสามัญ ต้องแบ่งสัดส่วนให้ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน
ในขณะเดียวกัน ควรกำหนดให้ นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นส.ส. พร้อมเพิ่มบทบาทของประชาชน อาทิ ประชาชนจำนวน 2 หมื่นคนขึ้นไปสามารถเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และประชาชน 1 หมื่นคนขึ้นไป สามารถเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติไม่จำกัดเนื้อหา
ในประเด็นปฏิรูปที่มา อำนาจหน้าที่ และการตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มีเจตนารมย์หลักทั้งหมด 3 ข้อ คือ 1. ต้องการให้การเมือง ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ 2. มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาล และ 3. การประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามามีบทบาททางการเมือง จึงต้องมีการถ่วงดุลตรวจสอบ ด้วยการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครอง ในกรณีที่ส่อว่ามีการทุจริตต่อหน้าที่ และมีการใช้อำนาจโดยมิชอบขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือทุจริตต่อการยุติธรรม
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญให้มีที่มาโดยให้ ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมาฝ่ายละ 6 คน รวมเป็น 18 คน ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาคัดเลือกเหลือ 9 คน ใช้มติ 2 ใน 3 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความถ่วงดุล เพราะมาจากตัวแทนรัฐบาล ฝ่ายค้าน ศาลฎีกาฝ่ายละ 3 คน
“การเสนอดังกล่าว ส.ส. จะไม่เข้าไปครอบงำศาล และองค์กรอิสระ เป็นเพียงการออกแบบให้ถ่วงดุล ให้ผู้แทนประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของบ้าง”
นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวต่อในประเด็นเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร และการป้องกันรัฐประหาร โดยมีข้อเสนอ คือ 1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ที่รับรองให้คำประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 60 โดยการใช้อำนาจของ คสช. ควรได้รับข้อยกเว้นเฉพาะช่วงรัฐประหารเท่านั้น
“การยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหาร หากสามารถทำสำเร็จก็จะไม่ถูกลงโทษ ดังนั้นจึงควรประกาศให้การนิรโทษกรรมรัฐประหารปี 57 เป็นโมฆะ หากมีทหารที่ทำรัฐประหารถูกดำเนินคดี ทหารรุ่นหลังก็จะไม่กล้าทำรัฐประหารอีก ในขณะเดียวกัน สิทธิ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทย มีสิทธิ และหน้าที่ในการต่อต้านรัฐประหารในทุกวิธีการ รวมทั้งเสนอห้ามไม่ให้ศาลฎีกาพิพากษายอมรับการรัฐประหารด้วย”
นายปิยบุตร กล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการออกแบบสร้างกติกาเป็นกลาง ไม่ใช่เขียนกติกาเฉพาะคนชนะ กำราบฝ่ายแพ้ให้ราบคาบ ไม่เห็นเหตุผลที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นชอบร่างแก้ไขฉบับประชาชน ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญยังอีกยาวนั้น แต่อย่างน้อยให้ลงมติรับวาระหลักการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปิดประตูรับรับฟังร่างภาคประชาชน เพื่อให้ได้ศาลรัฐธรรมนูญที่รับรองรัฐประหาร หรือก่อวิกฤติการเมือง มีองค์กรอิสระที่เป็นกลาง รวมถึงคนทำรัฐประหารต้องถูกดำเนินคดี
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ข้อเสนอของภาคประชาชนนั้นอาจมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงจะทำได้หรือไม่ อย่างกรณีที่จะให้ยุบวุฒิสภานั้นแต่ต้องมาขอเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาแล้วจะมีช่องทางเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอมานั้นจะทำให้เกิดปัญหาอำนาจซ้อน และจะสร้างความยุติธรรมตามที่บอกหรือไม่ ซึ่งอยากให้ผู้เสนอได้ชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ
ทั้งนี้ เหตุผลในการเสนอแก้ไขไม่ควรที่จะไปกล่าวโทษองค์กรหนึ่งองค์กรใดว่าทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง เพราะทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองตามอำนาจและหน้าที่ ถ้าเราถกเถียงในเรื่องหลักการก็คงไม่สามารถหาข้อยุติได้ ควรตกผลึกร่วมกันว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขควรจะเป็นอย่างไรจึงจะเกิดความสมดุลที่ทุกฝ่ายยอมรับ และประชาชนได้อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 64)
Tags: การเมือง, คณะก้าวหน้า, ชินวรณ์ บุณยเกียรติ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, รัฐประหาร, แก้ไขรัฐธรรมนูญ