“ปิยบุตร” ยก 2 แนวทางเตือนสติ หนทางเดินหน้าภารกิจสู่พรรคมวลชน

นายปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึง 2 ภารกิจสำคัญสำหรับพรรคการเมืองที่ต้องการเป็น “พรรคมวลชน/ พรรคยุทธศาสตร์/ พรรคอุดมการณ์” ที่มีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่ ไม่ใช่ลงเลือกตั้งเพื่อ “ขอแบ่ง” สัมปทานอำนาจรัฐเท่านั้น

– ภารกิจแรก การติดอาวุธความคิดและการ politicize มวลชน มวลชนของพรรค

โดยพรรคต้องติดอาวุธ ทำงานทางความคิดกับมวลชนของพรรคเหล่านี้ทุกกลุ่ม เปลี่ยนโหวตเตอร์ ให้กลายเป็นผู้สนับสนุนพรรค เปลี่ยนหัวคะแนนธรรมชาติ ให้กลายเป็นสมาชิกพรรค บริจาคให้พรรคสม่ำเสมอ เปลี่ยนสมาชิกพรรค ให้กลายเป็นสมาชิกพรรคที่เอาการเอางาน เป็น militant และมีพันธะผูกมัดกับพรรค หรือที่เรียกว่า militant engage

โดยการทำความคิดกับมวลชน หมายถึง การเอานโยบายพรรคไปบอกต่อ ให้คนเห็นด้วย ให้คนช่วยกันกระจายข้อมูล นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และไม่เพียงพอ หากทำเพียงเท่านี้ ก็จะมีมวลชนที่อุทิศตนเป็น “หัวคะแนนธรรมชาติ” ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ไปไม่ถึงการมีมวลชนที่เป็น militant และ engage ที่พร้อมลุกขึ้นสู้ร่วมกับพรรค

จำนวนสมาชิกจะต้องไม่เป็นเพียง “จำนวนตัวเลข” ที่มีให้ครบตามที่กฎหมายบังคับให้มี แต่จำนวนสมาชิกที่มาก ต้องมากในแง่ความเป็น militant engage

ทั้งนี้ ยามใดมีวิกฤตการเมือง นิติสงคราม ยุบพรรค ตัดสิทธิ หรือรัฐประหาร เวียนว่ายกลับมาอีก พรรคต้องทำหน้าที่เป็นกองหน้านำมวลชน จาก “ตัวเลขจำนวนนับ” ระเบิดพลังกลายเป็น “เจ้าของประเทศ/ ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากพรรคไม่ติดอาวุธความคิด จัดตั้ง และ politicize มวลชนตั้งแต่วันนี้

โดยพรรคต้องทำหน้าที่ยกระดับมวลชน เปลี่ยนจากการชื่นชอบรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ ของตัวบุคคล ให้กลายเป็นชื่นชอบ เชื่อมั่น และยึดมั่นความคิดและแนวทางของขบวน เปลี่ยนความกระตือรือร้นในการติดตาม ขอถ่ายรูป และโพสต์ลงโซเชียล ให้กลายเป็นความกระตือรือร้นในการศึกษา ค้นคว้า ทำความเข้าใจความคิด แนวทาง อุดมการณ์อย่างลึกซึ้ง

“ต้องใช้ป๊อปปูลาริตี้ที่ท่านมีเพื่อขบวน มิใช่ใช้เพื่อตนเอง เมื่อประชาชนติดตามมาก แทนที่จะเพลิดเพลินกับคนที่มาติดตาม หรือแทนที่จะหล่อเลี้ยงแฟนคลับด้วยการเอาอกเอาใจ ต้องใช้โอกาสนี้ในการทำความคิดกับพวกเขา หากความคิดใดไม่ถูกต้อง ต้องกล้าแก้ไข ปรับความคิด ต้องกล้าเตือน เสนอแนะ ส่งสัญญาณ โดยไม่ต้องพะว้าพะวงว่าจะเสียฐานแฟนคลับ ดารา นักร้อง นักแสดง ใช้ป๊อปปูลาริตี้เพื่อตนเอง เพื่อรายได้ เพื่อได้งานมากขึ้น แต่นักการเมืองแบบปฏิวัติ ต้องใช้ป๊อปปูลาริตี้ เพื่อพรรค เพื่อขบวนการ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดใหญ่” นายปิยบุตร ระบุ

– ภาคกิจที่สอง การแปลงนามธรรม ให้เป็นรูปธรรม

ภารกิจสำคัญของคณะผู้รับผิดชอบการคิดค้นแคมเปญใหญ่ คือทำอย่างไรให้ผู้คนเห็นภาพแจ่มชัด หากพรรคได้ครองอำนาจรัฐ ภายในกี่ปี ชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ประเทศไทยจะปฏิรูปไปในทิศทางใด ลูกหลานของพวกเขา จะได้เกิดและเติบโตในสังคมแบบใด

“ทั้งหมดก็เพื่อให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ เชื่อมั่น มั่นใจ และพร้อมเทคะแนนให้อย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งหน้า ให้มวลชนของพรรคที่อย่างไรก็เลือก ยังคงมั่นใจพวกท่าน ให้โอกาสพวกท่านต่อไป ให้มวลชนที่ไม่ได้เลือกพวกท่านในคราวก่อน เปลี่ยนใจมาเลือกพวกท่านในคราวหน้า เพราะพวกท่านคือความหวังเดียวที่เหลืออยู่ และให้มวลชนผู้ไม่ชอบ ไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจ เกลียด หรือกลัว พวกท่าน ยอมรับว่า ประเทศของเราต้องเปลี่ยนแปลง และพวกท่านคือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้ประเทศของเราดีขึ้น ได้ประโยชน์ผาสุกกันทุกฝักฝ่าย” นายปิยบุตร ระบุ

นายปิยบุตร กล่าวให้ข้อคิดว่า การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในประเทศของเรา ไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยการใช้กลไกตามระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกัน มวลชนผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในประเทศของเรา ก็ไม่อาจละทิ้งแนวทางรัฐสภา การมีพรรคการเมือง และการเลือกตั้งไปได้

พร้อมยกตัวอย่างว่า ปรัชญาเมธีปฏิวัติและนักปฏิวัติ เช่น เลนินและกรัมชี่ ไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาโดยเด็ดขาด แต่ชี้ชวนให้เราเห็นคุณประโยชน์ของการเลือกตั้งและระบบรัฐสภา ในช่วงเวลาที่ยังไม่สุกงอมเพียงพอ นักปฏิวัติต้องใช้การเลือกตั้งและระบบรัฐสภาเป็นพื้นที่ในการรณรงค์ต่อสู้ ทำงานทางความคิด เปลี่ยนใจผู้คน สะสมกำลัง เพื่อเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอนาคต

ดังนั้น พรรคการเมืองที่มีแนวทางการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จึงต้องมอง “การเลือกตั้งและระบบรัฐสภา” เป็นวิธีการ มิใช่เป้าหมาย และใช้เป็นเครื่องมือในระยะเปลี่ยนผ่าน ในช่วงที่กำลังทั้งทางปริมาณและคุณภาพยังไม่มากเพียงพอที่จะเอาชนะได้ในตาเดียว และยังคงจำเป็นต้องสู้ภายใต้ระบบของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ในระยะเปลี่ยนผ่านที่ต้องสู้กันในระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งแบบที่เป็นอยู่นี้ ด้านหนึ่ง พรรคได้รับคะแนนนิยมสูงมากขึ้น เป็นความหวังของมวลชน แต่อีกด้านหนึ่ง ระบอบได้ติดตั้งกลไกปิดล้อมเอาไว้หมด จนพรรคไม่สามารถทำอะไรได้ หรือทำได้แต่เพียงเล็กน้อยมากตามที่พวกเขาอนุญาตพรรคหาช่องทางในระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในช่วงเปลี่ยนผ่านได้น้อยมาก ในท้ายที่สุด หากสภาวะเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป พรรคจะใช้การเลือกตั้งและระบบรัฐสภาทำหน้าที่อะไรได้อีกบ้าง

ดังนั้น หากไม่คิดอ่าน ตระเตรียมเรื่องเหล่านี้ สุดท้าย การเลือกตั้งและระบบรัฐสภาที่เราวางไว้เป็นเครื่องมือในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนหน้าใหม่ได้กลายเป็นอำมาตย์ใหม่ ยกสถานะเป็นชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มใหม่ ได้เข้าสู่อำนาจรัฐ ได้รับสิทธิประโยชน์โพดผลของกำนัลจนเคยตัว

ในส่วนของการเลือกตั้งและระบบรัฐสภา ที่เราต้องการใช้เป็นสะพานเชื่อมต่อไปสู่การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ก็ถูกลดระดับให้กลายเป็นโรงละครของระบอบ Entertainocracy ให้นักการเมืองของพรรคได้ออกมาแสดง เล่นตามบทที่ตนรับ เพื่อแสวงหายอดคนดู ยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดโหวต ในเกมโชว์ เรียลลิตี้โชว์

นายปิยบุตร ระบุว่า เลือกตั้ง-ถูกสกัดขัดขวาง ไม่ให้เป็นรัฐบาล-ยุบพรรค ตัดสิทธิ์-นิติสงคราม-ตั้งพรรคใหม่-ทำงานสภา แต่ไม่สำเร็จเพราะโดนสกัดขัดขวางโดยเหล่า “ผู้แทนของผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตที่สอง” และกลไกต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ-งานสภาเป็นได้แต่เพียงช่องทางการหาคะแนนนิยม-เลือกตั้ง-ชนะ-นิติสงคราม/ รัฐประหาร-ยุบพรรค ตัดสิทธิ์-ตั้งพรรคใหม่-เลือกตั้ง หากวงจรเช่นนี้ยังวนเวียนอยู่ต่อไปจะทำเช่นไร

ทั้งนี้ ถ้าชนะเลือกตั้ง ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ด้วยกลไกนิติสงคราม หรือรัฐประหาร จะทำเช่นไร ถ้าชนะเลือกตั้ง ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ได้เป็นรัฐบาล ดำเนินการในเรื่องแหลมคม ต่อมาโดนกลไกนิติสงคราม หรือรัฐประหาร จะทำเช่นไร ถ้าได้เสียงจำนวนมาก เป็นลำดับที่ 1 มีจำนวน สส.ไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่ถูกสกัดขัดขวางจนไม่ได้เป็นรัฐบาล จะทำเช่นไร ถ้าได้เสียงจำนวนมาก เป็นลำดับที่ 1 มีจำนวน สส.ไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่ฝ่าวงล้อมจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะดำเนินการเรื่องใด เรื่องใดทำ เรื่องใดไม่ทำ

โดยฉากจำลองสถานการณ์เหล่านี้ มัดรวมได้เป็น 1 ข้อชวนคิด นั่นคือการต่อสู้ผ่านการเลือกตั้งและระบบรัฐสภา จะดำเนินต่อไปได้จนถึงเมื่อไร พรรคการเมืองจะจำกัดบทบาทเฉพาะการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาได้ไปจนถึงเมื่อไร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 68)

Tags: , , , , ,