ปศุสัตว์เตือนเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีก หลังจีนพบตายเพิ่มจากไข้หวัดนก H5N6

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขของจีนออกแถลงการณ์ว่า พบผู้หญิง อายุ 54 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองจื้อกง ในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N6 โดยผู้ป่วยได้มีอาการในวันที่ 17 พ.ย. โดยมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายก่อนเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ต่อมาได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา

ด้านองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง (HPAI) ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนม.ค. 64 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีการระบาดมากถึง 4,578 จุด โดยเป็นผู้ป่วยที่พบสายพันธุ์ H5N6 จำนวน 61 ราย และในประเทศจีน ส่วนใหญ่อยู่ที่มณฑลเสฉวน นอกจากนั้นกระจายอยู่ในเทศบาลนครฉงชิ่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกวางตุ้ง มณฑลอานฮุย และมณฑลหูหนาน

กรมปศุสัตว์ จึงยังคงมาตรการชะลอการนำเข้า-ออก หรือผ่านราชอาณาจักร ในประเทศที่พบการรายงานการเกิดไข้หวัดนกชนิดรุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อมาสู่ประเทศไทย ส่วนในประเทศไทยปัจจุบัน ไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รวดเร็ว อาจทำให้สัตว์ปีกปรับตัวได้ยาก ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีก ทำให้อ่อนแอ

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และปศุสัตว์อำเภอทั่วประเทศเข้มงวด ในการดำเนินมาตรการ เฝ้าระวังและป้องกันโรคในพื้นที่ พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรทุกราย และรายงานสถานการณ์สัตว์ปีกทุกวัน

ทั้งนี้ การป้องกันที่ดีถือเป็นหัวใจของความสำเร็จที่ทำให้ไทยปลอดจากไข้หวัดนกมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งในคนและสัตว์ จากการที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกทั่วประเทศจัดการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด ประกอบกับการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือน และบริเวณโดยรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมถึงสัตวแพทย์ยังควบคุมฟาร์มอย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม และควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม โดยการฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน

“เมื่อได้รับแจ้งหรือพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หรือมีอาการต้องสงสัยเหมือนนิยามโรคไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ก็ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

นอกจากนี้ ได้มีการเฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , ,