นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์โควิด 19 ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้ตรวจราชการ/สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 1-13, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปว่า หลังมีมาตรการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้ปิดแคมป์ก่อสร้าง ทำให้มีผู้เดินทางกลับบ้านจึงจำเป็นต้องปรับการบริหารจัดการในการควบคุมป้องกันโรค ให้ผู้ตรวจราชการทุกเขตสุขภาพทำหน้าที่เหมือนปลัดกระทรวง เปิดอีโอซีทุกวัน และให้ดำเนินการใน 4 ด้าน คือ
1.ด้านบุคลากร ขอกำลังสนับสนุนจากส่วนภูมิภาคมาช่วยดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงใน กทม. ซึ่งต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก โดยขณะนี้โรงพยาบาลบุษราคัมเปิดแล้ว 2 พันเตียงดูแลผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (สีเหลือง) จะเปิดเฟส 3 เพิ่มอีกพันกว่าเตียง ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
รวมทั้งเพิ่มเตียงสีแดง ในกทม. ที่มีเตียงของรัฐ 400 เตียง เอกชน 1,000 เตียง จะเปิด Cohort ICU ที่โรงพยาบาลสนาม มทบ.11 จำนวน 58 เตียงและเตียงสีเหลืองอีก 128 เตียง ในวันที่ 2 กรกฎาคม ได้รับการสนับสนุนกำลังคนจากเครือโรงพยาบาลธนบุรี รวมทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามาธิบดี วชิรพยาบาล 3 แห่ง รวมอีก 50 เตียง และโรงพยาบาลพลังแผ่นดินอีก 25 เตียง รวมสัปดาห์หน้าจะมีเตียงสีแดงเพิ่มอีก 133 เตียง
พร้อมทั้งขอให้แพทย์เฉพาะทาง แพทย์จบใหม่ และพยาบาล มาช่วย 1 เดือน และให้สถาบันพระบรมราชชนกจัดอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤต
2.ให้ผู้ตรวจราชการทุกเขตรายงานจำนวนเตียงทั้งสีเขียว เหลือง แดง โรงพยาบาลในเขตสุขภาพทั้งรัฐและเอกชน และสต็อกยา เวชภัณฑ์ ชุด PPE เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรภาพรวมทั้งเขตสุขภาพ
3.การป้องกันควบคุมโรค ใช้กลยุทธ์ต่างๆ ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น Bubble and Seal ยุทธการขนมครก ส่ง อสม.ติดตาม สำรวจผู้เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด
4.ให้เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรังให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, ฉีดวัคซีน, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, เตียงผู้ป่วย, โควิด-19