สภาการพยาบาลสากล (ICN) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ผลักดันให้บรรดาประเทศร่ำรวยเพิ่มการว่าจ้างพยาบาลจากกลุ่มประเทศยากจน ซึ่งทำให้ภาวะขาดแคลนบุคลากรในประเทศเหล่านั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นายโฮเวิร์ด แคตตอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ICN ซึ่งเป็นตัวแทนของพยาบาล 27 ล้านรายและองค์กรระดับชาติอีก 130 แห่ง กล่าวว่า ความเจ็บป่วย ความเหนื่อยล้า และการลาออกของบุคลากรท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่พุ่งสูงขึ้น ได้ส่งผลให้อัตราผู้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทะยานสู่ระดับสูงสุดในช่วงการเกิดโรคระบาดที่ดำเนินมา 2 ปี
นายแคตตอนกล่าวว่า เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว เหล่าประเทศตะวันตกจึงแก้ปัญหาด้วยการว่าจ้างบุคลากรกองทัพและอาสาสมัคร ตลอดจนผู้เกษียณอายุ ขณะเดียวกัน หลายประเทศยังเร่งว่าจ้างบุคลากรต่างชาติเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระแสความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพรุนแรงมากยิ่งขึ้น
“เราเห็นการจ้างบุคลากรต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศต่าง ๆ เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดาและสหรัฐ ผมกังวลจริง ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเช่นนี้ ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่เราเคยเห็นจากกรณีที่บรรดาประเทศร่ำรวยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจซื้อและกักตุนชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และวัคซีน หากประเทศเหล่านี้ดำเนินการลักษณะเดียวกันต่อบุคลากรพยาบาล ก็จะทำให้ความไม่เท่าเทียมรุนแรงมากยิ่งขึ้น”
นายแคตตอนกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยข้อมูลของ ICN ว่า เกิดภาวะขาดแคลนพยาบาลทั่วโลกอยู่แล้ว 6 ล้านรายตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด โดยเกือบ 90% ของภาวะขาดแคลนดังกล่าวกระจุกตัวอยู่ในประเทศรายได้ต่ำไปจนถึงปานกลาง
นายแคตตอนกล่าวเสริมว่า พยาบาลที่ได้รับการว่าจ้างจากประเทศร่ำรวยเมื่อไม่นานมานี้มาจากภูมิภาคแอฟริกาใต้ รวมถึง ไนจีเรียและบางพื้นที่ของแคริบเบียน โดยพยาบาลเหล่านั้นมักถูกจูงใจโดยเงินเดือนที่สูงขึ้นและเงื่อนไขการทำงานที่ดีกว่าในประเทศของตนเอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 65)
Tags: ICN, จ้างงาน, ชาวต่างชาติ, พยาบาล, โควิด-19