นายบอร์จ เบรนเด ประธานการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) ได้แสดงมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยกล่าวว่า โลกจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีหากไม่มีการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นายเบรนเดได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมรอบพิเศษของ WEF ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาดของซาอุดีอาระเบีย โดยการประชุมจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือระดับโลก การเติบโต และพลังงานเพื่อการพัฒนา (Global Collaboration, Growth and Energy for Development)
ทั้งนี้ นายเบรนเดเตือนว่า อัตราส่วนหนี้สินทั่วโลก (global debt ratios) ในขณะนี้ใกล้แตะระดับสูงสุดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1820 และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อกลับสูงขึ้น (Stagflation)
“การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ราว 3.2% ซึ่งแม้จะไม่ถือว่าแย่ แต่เราก็ไม่เคยเห็นการเติบโตที่ระดับต่ำเช่นนี้ โดยแนวโน้มการเติบโตเคยอยู่ที่ระดับ 4% มานานหลายสิบปี” นายเบรนเดกล่าว และเสริมว่า มีความเสี่ยงที่จะเศรษฐกิจของบางประเทศจะชะลอตัวลงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970
เมื่อผู้สื่อข่าวของซีเอ็นบีซีถามถึงการหลีกเลี่ยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นายเบรนเดกล่าวว่า “เราไม่ควรทำสงครามการค้า เพราะเรายังต้องค้าขายซึ่งกันและกัน การค้าโลกจะเปลี่ยนแปลงไป โดยห่วงโซ่อุปทานจะอยู่ในวงแคบเฉพาะประเทศใกล้เคียงและประเทศที่เป็นพันธมิตร แต่เราไม่ควรสูญเสียห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินทั่วโลก โดยหนี้สินทั่วโลกอยู่ในระดับสูงสุดตั้งแต่ยุคสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) และเรากำลังจะเห็นหนี้สินใกล้แตะ 100% ของ GDP โลก”
นายเบรนเดระบุว่า รัฐบาลของประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องพิจารณาถึงวิธีการในการลดหนี้สิน และดำเนินมาตรการทางการคลังที่ถูกต้องโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 67)
Tags: เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจโลก