สวนดุสิตโพล เผยประชาชนส่วนใหญ่ 48.89% ค่อนข้างวิตกกังวลกับปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเกินมาตรฐาน รองลงมาอีก 41.58% รู้สึกวิตกกังวลอย่างมาก ตามมาด้วย 8.19% ไม่ค่อยวิตกกังวล และที่เหลืออีก 1.34% ไม่รู้สึกวิตกกังวล
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น เป็นอับดับ 1 มาจากการเผาไร่นา เผาป่า ไฟป่า อับดับ 2 มาจากโรงงานอุตสาหกรรม และ อันดับ 3 มาจากการก่อสร้าง
สำหรับมีวิธีการรับมือกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้น อันดับ 1 ติดตามข่าวสารเรื่องฝุ่น PM 2.5 และแนวทางปฏิบัติจากภาครัฐ อันดับ 2 สวมหน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ และ อันดับ 3 ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ส่วนเหตุผลที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แก้ไขได้ยาก อันดับ 1 เนื่องจากการเผาไร่นา เผาป่า เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อันดับ 2 ต้นตอของมลพิษมีความหลากหลายทั้งจากมนุษย์และสภาพแวดล้อม และ อันดับ 3 การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง
ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต่อรัฐบาล อันดับ 1 มีมาตรการควบคุมและบทลงโทษที่เด็ดขาด อันดับ 2 มีระบบการแจ้งเตือน ตรวจวัด และรายงานผลที่มีประสิทธิภาพ และ อันดับ 3 ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดการปล่อยมลพิษ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ 74.53% คิดว่ารัฐบาลจะแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ ส่วนที่เหลืออีก 25.47% คิดว่ารัฐบาลจะแก้ไขได้แน่นอน
ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “คนไทยกับฝุ่น PM 2.5” จากประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 1,123 คนทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 12-15 ธ.ค.ที่ผ่านมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 66)
Tags: PM2.5, ผลสำรวจ, ฝุ่น PM2.5, สวนดุสิตโพล