ออสตัน กูลส์บี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาชิคาโก เตือนว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวลง โดยเตือนว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาจจะยุ่งเหยิงในระดับหนึ่ง หากผู้บริโภคหยุดการใช้จ่ายหรือภาคธุรกิจหยุดการลงทุนเพราะไม่มั่นใจเกี่ยวกับทิศทางในอนาคต
กูลส์บีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์ในวันอังคาร (1 เม.ย.) ว่า ในทางทฤษฎีนั้น การใช้มาตรการภาษีศุลกากรครั้งเดียวจะมีผลกระทบชั่วคราวต่อเงินเฟ้อ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีผลกระทบเป็นเวลานานขึ้น หากมีการตอบโต้กันด้วยภาษีศุลกากร รวมทั้งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ภาษีบางส่วนอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) เช่น ส่วนประกอบและชิ้นส่วนที่ใช้ในสินค้าที่ผลิตในประเทศ
อย่างไรก็ดี กูลส์บีกล่าวว่าข้อมูลเชิงสถิติแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง แม้ผลสำรวจบ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะชะลอตัวลงก็ตาม ทั้งนี้ กูลส์บีเคยกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขายังคงคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงใน 12-18 เดือนข้างหน้า
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 4.25% – 4.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่สองหลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงทั้งสิ้น 1% ในปี 2567 ส่วนการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) นั้น เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปีนี้
ทำเนียบขาวยืนยันว่า ปธน.ทรัมป์จะประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในวันพุธ (2 เม.ย.) ตามที่ได้วางแผนไว้ และจะมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งเป็นความพยายามที่จะลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 68)
Tags: ชิคาโก, ธนาคารกลางสหรัฐ, ภาษีทรัมป์, มาตรการภาษี, เฟด