นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานอุตสาหกรรมสมุนไพร ในสภาพอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาครัฐควรทำงานร่วมกันกับเอกชนออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนสมุนไพรไทย รวมทั้งส่งเสริมผลักดันสมุนไพรไทยไปยังตลาดโลก อาทิ กระทรวงพาณิชย์จัดงานมหกรรมสมุนไพรในต่างประเทศ พาผู้ประกอบไทยไปนำเสนอผลิตภัณฑ์ทั่วโลก รวมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs เนื่องจากโรงงานผลิตสมุนไพรมีภาระต้องปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรการตามสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด และอย.ปรับกระบวนการขึ้นทะเบียนให้มีความรวดเร็วมากขึ้น และสนับสนุนการขึ้นทะเบียนสำหรับการส่งออกต่างประเทศ
ตลาดสมุนไพรไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐ ขณะที่ผู้บริโภคมีการใช้สมุนไพรมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาพลักษณ์การใช้สมุนไพรดีขึ้น และเทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลกที่เข้าหาความเป็นธรรมชาติ ลดการบริโภคยาเคมี รวมทั้งโอกาสในการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตดีจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นกลับมา
จากข้อมูลตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลก มีมูลค่า 60,165.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่ในภูมิภาคเอเชียถึง 57.6% อเมริกา 22.1 % ยุโรป 22.1 % ยุโรป 18% ตะวันออกกลาง 1.5% ออสเตรเลีย 0.9% ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งสมุนไพรมีการบริโภคในอาหารมากที่สุด แต่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและยามีมูลค่ามากที่สุด ซึ่งอุตสาหกรรมมีหน้าที่ในการผลักดันสมุนไพรไทยให้มีมูลค่าที่สูงที่สุด โดยปัจจุบันยังติดปัญหาด้านความร่วมมือระหว่างองค์กร ภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และคาดการณ์ตลาดสมุนไพรในประเทศในปี 70 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ ยาอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอางเครื่องดื่มสมุนไพรที่ได้รับความนิยม ขมิ้นชัน กระชายขาว ตะไคร้หอม บัวบก ในขณะที่ตลาดสมุนไพรโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ปี 73 ทะลุ 2.7 ล้านล้านบาท เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สุขภาพยา เครื่องสำอาง สมุนไพรที่ได้รับความนิยม ขิง กระเทียม โสม และคาโมมายล์
นายเมธา สิมะวรา อดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ประธานกลุ่มสมุนไพรคนใหม่สานต่อภารกิจและต่อยอดแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2567 ที่วางเป้าประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ที่ได้มาตรฐาน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ต่อยอดด้วยนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล 6 ด้านได้แก่
1. การส่งเสริมสมุนไพรผ่านอาหารไทย จากครัวไทยสู่ครัวโลก
2.การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของ SMEs ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
3. เน้นตลาดในประเทศ และ CLMV
4. ยกระดับการผลิตด้วยเทคโนโลยี (SMART)
5.ส่งเสริมให้ส่วนภูมิภาคใช้สมุนไพรเป็นกลไกการพัฒนา และ
6. ส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสกัดเพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขัน โดยจะเน้นผลักดันให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) ของประเทศไทยในช่วงที่มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 (ช่วงปี 2560-2566) สูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 67)
Tags: ซอฟต์พาวเวอร์, สมุนไพรไทย, สิทธิชัย แดงประเสริฐ