บ้านปู เน็กซ์ ต่อยอด “สมาร์ทเซฟตี้ แพลตฟอร์ม” ช่วยยกระดับความปลอดภัย-บริหารงานง่าย-เพิ่มรายได้

นายชนิต สุวรรณพรินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส-บริหารการตลาดและการขาย บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด บริษัทลูกของ บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า จากโครงการนำร่องที่ บ้านปู เน็กซ์ ได้นำสมาร์ทเซฟตี้ แพลตฟอร์มไปให้บริการ 2 พื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต บริเวณถนนถลาง-ซอยรมณีย์ และตำบลราไวย์ (บริเวณเทศบาล และแหลมพรหมเทพ) เมื่อปี 64 พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ได้ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการเฝ้าระวังอาชญากรรม ภัยจากโควิด-19 และสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นใจให้คนในชุมชน และนักท่องเที่ยวมากขึ้น

ในปีนี้เรายังคงมุ่งนำเสนอโซลูชันพลังงานฉลาดเพื่อความยั่งยืนใหม่ๆ โดยนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงานมาพัฒนาเป็น ระบบความปลอดภัยครบวงจร หรือ “สมาร์ทเซฟตี้ แพลตฟอร์ม” ให้กับภาคธุรกิจ เสริมฟังก์ชันความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากใช้โซลูชันฉลาดวิเคราะห์ รวบรวมดาต้ามาวิเคราะห์ เพื่อออกแบบระบบที่สอดรับกับความต้องการและแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้รอบด้าน เลือกใช้อุปกรณ์มาตรฐานระดับสากลใช้เทคโนโลยีดึงดาต้ามาวิเคราะห์และประมวลผลได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว พร้อมมีแดชบอร์ดและโมบายแอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบ เฝ้าระวัง แจ้งเตือน และสั่งการได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถแสดงข้อมูลแบบเรียลไทม์และย้อนหลังบนแพลตฟอร์มเดียว นอกจากนี้ยังมีบริการหลังการขายดูแลลูกค้าตลอด 24 ชม.

สมาร์ทเซฟตี้ แพลตฟอร์ม ประกอบด้วยระบบอัจฉริยะ ทั้งฮาร์ดแวร์ด้านความปลอดภัย เทคโนโลยี AI และ IoT ที่ทำงานร่วมกันอย่างลงตัว ซึ่งสามารถออกแบบได้ตามความต้องการใช้งานของแต่ละพื้นที่ เหมาะกับการใช้งานในธุรกิจหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ นิคมอุตสาหกรรม สถานศึกษา โรงพยาบาล โครงการที่อยู่อาศัย โรงแรม เป็นต้น โดยมอบประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

1) ยกระดับด้านความปลอดภัย (Security Performance Improvement) เช่น ระบบ CCTV และ AI ตรวจจับใบหน้า ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือควันไฟ ใช้ระบบ License Plate Recognition: LPR จดจำป้ายทะเบียนรถที่เข้า-ออกพื้นที่ บันทึกป้ายแบล็คลิสต์ หรือระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน (SOS) ช่วยให้เจ้าหน้าที่รับแจ้งและระงับเหตุได้รวดเร็ว ป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ช่วยธุรกิจลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการ และสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ

2) บริหารจัดการข้อมูล (Data Management) เช่น การใช้ระบบ CCTV และ AI วิเคราะห์ภาพภายในซูเปอร์มาร์เก็ต สามารถดึงบิ๊กดาต้า ทั้งจำนวนลูกค้าเข้า-ออก ตรวจจับสินค้าบนชั้นวาง สินค้าขายดีแต่ละช่วงเวลา ฯลฯ มาวิเคราะห์พฤติกรรมเชิงลึกของลูกค้า ช่วยในการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงการจัดกิจกรรมทางการตลาดและโปรโมชันที่ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น

3) เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ (Revenue Increase) เช่น ธุรกิจห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต สามารถนำดาต้าทั้งหมดมาต่อยอดเป็นบริการ หรือธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น มอบบริการที่ดี ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ และซื้อหรือใช้บริการซ้ำมากขึ้น เป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้ ทำกำไรให้ธุรกิจระยะยาว ทั้งยังเสริมภาพลักษณ์การเป็นองค์กรต้นแบบด้านการบริหารจัดการความปลอดภัย สอดรับกับแนวทางการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น

“ปัจจุบันเราได้ขยายการติดตั้งสมาร์ทซิตี้ แพลตฟอร์มให้เทศบาลตำบลวิชิต จังหวัดภูเก็ต และอยู่ระหว่างการศึกษา ความเป็นไปได้กับลูกค้านิคมอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าแพลตฟอร์มนี้จะช่วยสร้างคุณค่าให้ธุรกิจรอบด้าน ควบคู่ไปกับการยกระดับการพัฒนาเมือง สร้างความปลอดภัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน พร้อมผลักดันประเทศไทยก้าวสู่สมาร์ทซิตี้”

นายชนิต กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 65)

Tags: , , , ,