บัวหลวง ออกกอง Fund of Funds เพิ่มทางเลือกลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลกเปิดขาย 21-28 มี.ค.

บลจ.บัวหลวง (BBLAM) ออกกองทุนตราสารหนี้ใหม่ กองทุนเปิดบัวหลวงไดนามิก บอนด์ (B-DYNAMIC BOND) โดยจุดประสงค์ของกองทุนเพื่อหาโอกาสลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก อีกทั้งกองทุนนี้ BBLAM ตั้งใจให้มีความยืดหยุ่นสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกลงทุน โดยกองทุนนี้จะเปิดขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 21–28 มีนาคม 2566

กองทุน B-DYNAMIC BOND เป็นกองทุนตราสารหนี้ประเภท Fund of Funds ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป และบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน นอกจากนี้ กองทุน B-DYNAMIC BOND นี้ ถือเป็นการเติมเต็มทางเลือกให้แก่นักลงทุนตราสารหนี้ของ BBLAM

สำหรับ 2 จุดเด่นที่ทำให้กองทุน B-DYNAMIC BOND เป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ “ยืดหยุ่น” และ “หาโอกาสลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ” มากกว่ากองทุนตราสารหนี้อื่นๆ ที่ BBLAM เคยมี

จุดเด่นแรก ได้แก่ การลงทุนที่ไม่ได้ผูกติดกับกองทุนกองใดกองหนึ่ง การที่เป็นกองทุนประเภท Fund of Funds ทำให้ได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนการลงทุนได้หลากหลายกองทุนมากกว่าในระดับหนึ่ง ช่วยให้ผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการกองทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้มากกว่า

จุดเด่นที่สอง คือ กองทุน B-DYNAMIC BOND กระจายลงทุนในตราสารหนี้ที่หลากหลายมากกว่าในหลายมิติ เพราะนอกจากกองทุนจะมี Core Port ที่เปิดโอกาสหาผลตอบแทนจากตราสารหนี้ต่างประเทศหลากหลายประเภทแล้ว ยังเปิดทางให้ผู้จัดการกองทุนเพิ่มสัดส่วนลงทุนในตลาดตราสารหนี้ประเทศอื่นๆ มากขึ้น เช่น ตราสารหนี้ในกลุ่ม Emerging Market หรือตราสารหนี้ที่รับมือกับเงินเฟ้อ เป็นต้น

จาก 2 จุดเด่นข้างต้น ผู้จัดการกองทุนวางกลยุทธ์บริหารกองทุน B-DYNAMIC BOND แบบ “1 กองทุน กับ 3 พอร์ต” โดยพอร์ตแรกจะเรียก Core Port ซึ่งจะมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 70% ของขนาดกองทุน โดยคาดว่าจะลงทุนในหน่วยลงทุนของ PIMCO GIS Global Bond Fund ซึ่งบริหารจัดการโดย PIMCO การที่เลือกกองทุนดังกล่าว เพราะมีนโยบายสอดรับกับการกระจายลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับ Investment Grade ในสกุลเงินหลักของโลกเป็นหลัก

พอร์ตที่สองจะเรียกว่า Satellite Port ซึ่งจะมีสัดส่วนลงทุนรวมกันไม่เกิน 30% ของขนาดกองทุน พอร์ตนี้เป็นพอร์ตที่ทางผู้จัดการไว้หาโอกาสลงทุน เบื้องต้นมองไปใน 4 เรื่อง ได้แก่ โอกาสจากสหรัฐฯ (U.S. Outlook), จีน (China Bond), ตราสารหนี้ High Yield และตราสารลงทุนประเภท Inflation Hedge เป็นต้น ส่วนพอร์ตสุดท้ายเป็นการหาตราสารลงทุนเพื่อให้สามารถบริหาร Duration ของพอร์ตให้เหมาะสมกับการขึ้นลงของดอกเบี้ย ลดผลกระทบเมื่อดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มี.ค. 66)

Tags: , , ,