นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 มี.ค.66 ได้มีมติอนุมัติสั่งจ้างก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ในส่วนของสัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. โดยมี บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง (CIVIL)) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายที่ 3 และยืนราคาก่อสร้าง มูลค่าสัญญา 10,325.96 ล้านบาท
หลังจากนี้ รฟท.จะดำเนินการส่งร่างเงื่อนไขสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณาตรวจสอบให้รอบคอบ ทั้งนี้ คาดว่าอัยการสูงสุดจะพิจารณาร่างสัญญาภายใน 1-2 เดือน จากนั้น จึงจะมีการลงนามสัญญาก่อสร้างต่อไป
และเนื่องจากเป็นการลงนามสัญญาแบบที่ต้องทำเงื่อนไขเพิ่มเติม กรณีที่สถานีอยุธยาอยู่ระหว่างการศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยหากสรุปการศึกษาออกมาแล้วจะต้องมีการปรับเปลี่ยนสถานีอยุธยา ก็สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาได้ หากมีวงเงินเพิ่มจะถือเป็นงานปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม (Variation order-VO) ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในการประมูลมีการแยกเนื้องานและมูลค่าก่อสร้างสถานีอยุธยาไว้ชัดเจน และประมูลตามแบบที่ได้รับ EIA เดิมซึ่งสถานีมีขนาดใหญ่กว่า แบบสถานี ในการศึกษามรดกโลก ซึ่งจะพยายามควบคุมไม่ให้ค่าก่อสร้างเกินกรอบสัญญา
ทั้งนี้ แนวทางการลงนามสัญญาที่ 4-5 กับผู้เสนอราคารายที่ 3 สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาและไม่ทำให้งานต้องล่าช้าออกไปสัญญา
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีงานโยธา 14 สัญญา ซึ่งขณะนี้เหลือ 3 สัญญา ที่ยังไม่ได้ลงนามผู้รับจ้าง คือ สัญญาที่ 4-5 ซึ่งบอร์ด รฟท.อนุมัติสั่งจ้าง บริษัท บุญชัยพาณิชย์แล้ว ยังมีสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท (ราคากลาง 11,386 ล้านบาท) ซึ่งล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ (ITD) ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้รับการคัดเลือก แต่ยังไม่ได้นำเสนอบอร์ดในรอบนี้
อีกสัญญาคือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งมีประเด็นการแก้ปัญหาโครงสร้างโยธาร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดรฟท.รับทราบรายงานความคืบหน้า ของมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 66 และสั่งการให้รฟท.ดำเนินการตามมติบอร์ดอีอีซี
นายอนันต์ กล่าวว่า ขณะนี้รฟท.พยายามเร่งรัดประเด็นโครงสร้างร่วมรถไฟไทย-จีนและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินซึ่ง คาดว่าจะได้ข้อยุติปัญหาโครงสร้างร่วม และการก่อสร้างสัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และการแบ่งชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน เพื่อเข้าบริหารโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) เพื่อดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการฯ และกำหนดที่จะส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ภายในเดือนมิ.ย. 66 ซึ่งเลื่อนจากเดิมที่คาดว่าออก NTP ในวันที่ 4 ม.ค. 66
“จากการประเมินแผนงานก่อสร้างล่าสุด ในส่วนของโครงการรถไฟไทย-จีน ที่มีงานโยธา 14 สัญญา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2569 และมีการทดสอบระบบการเดินรถ (สัญญา 2.3 งานระบบและขบวนรถ) เพื่อเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2570 และนำแผนมาประเมินร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่จะต้องเริ่มก่อสร้างในเดือนมิ.ย. 66
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 66)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, จิรุตม์ วิศาลจิตร, รฟท., อนันต์ โพธิ์นิ่มแดง