บอร์ดรฟท.ไฟเขียวจัดซื้อแคร่ขนส่งสินค้า 946 คัน กว่า 2.45 พันลบ.รองรับทางคู่ รอรบ.ใหม่อนุมัติ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. วันที่ 18 พ.ค.2566 มีมติเห็นชอบการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า (บทต.) โดยกำหนดให้นำชิ้นส่วนภายในประเทศและต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศจำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459.97 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ จะสรุปข้อมูลรายละเอียดโครงการเสนอกลับไปที่กระทรวงคมนาคม พิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่อนุมัติตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า ดังกล่าวเป็นโครงการเดิมที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2563 บอร์ดรฟท.ได้เคยมีมติเห็นชอบ ให้ดำเนินการจัดซื้อ โดยกระทรวงคมนาคม ได้มีความเห็นว่า ให้พิจารณาแนวทางอื่น ๆ เปรียบเทียบเพิ่มเติมกับแนวทางจัดซื้อ เช่น ใช้ เอ้าท์ซอส หรือ การเช่าดำเนินการ ดังนั้นรฟท.จึงได้นำโครงการกลับมาศึกษาทบทวน และสรุปการศึกษาพบว่า รูปแบบการจัดซื้อมีความคุ้มค่าในการดำเนินการมากที่สุด

โดยจากการเปรียบเทียบรูปแบบการจัดหาระหว่างวิธีการซื้อจำนวน 946 คันกับรูปแบบการเข้าพร้อมกันซ่อมแซมบำรุงรักษาจำนวน 860 คัน โดยพบว่า ในการจัดซื้อมีราคาเฉลี่ยคันละ 2.6 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลา 30 ปี ประกอบด้วยเงินลงทุนวงเงิน 2,459.97 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยเงินกู้จำนวน 1,771.33 ล้านบาท และค่าซ่อมบำรุง 4,318.52 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,549.83 ล้านบาทบาท หรือเฉลี่ยต่อปี 244.28 ล้านบาท

ขณะที่กรณีเช่าดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษาในอัตราค่าเช่าวันละ 1,300 บาทต่อคัน และ 2,250 บาทต่อคัน จะมีค่าใช้จ่ายตลอดโครงการระยะ 30 ปี ประมาณ 12,242.1 ล้านบาท และ 21,188.25 ล้านบาท ตามลำดับหรือเฉลี่ยต่อปี เท่ากับ 360.06 ล้านบาทและ 623.18 ล้านบาท

“หลังจากนี้จะเสนอเรื่อง ไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยืนยันว่าการซื้อคุ้มค่า ส่วนวงเงินจัดซื้อ เป็นไปตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบจากปี 2563 โดยหลังจากครม.อนุมัติจะใช้เวลาจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 7-8 เดือน โดยมีเงื่อนไขประกอบในประเทศและใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ(Local Content) 40% ส่วน อีก 60% เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น โบกี้ ซึ่งไทยยังผลิตไม่ได้ โดยจะเป็นการกู้เงินมาจัดซื้อและใช้รายได้ชำระคืนเงินกู้ คาดจะใช้เวลาจัดหา และคาดว่าจะได้รถใน 2 ปี”

ปัจจุบันรฟท.มีแคร่สินค้าจำนวน 1,380 คัน ซึ่งการจัดหาแคร่สินค้าจำนวน 946 คัน นั้นเป็นไปตามยุทธศาสตร์แผนฟื้นฟู รฟท. โดยเป็นการนำมาทดแทนของเก่าที่มีสภาพชำรุด และขยายการรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางรางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้จาก ธุรกิจสินค้า มีกำไรที่ดีมากกว่าด้านผู้โดยสาร แต่รฟท.มีแคร่สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งเพื่อรองรับ รถไฟทางคู่ที่กำลังจะแล้วเสร็จในหลายเส้นทาง รวมถึงการจัดหาหัวรถจักรเข้ามาภาพรวมจะทำให้ขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มและสร้างรายได้เพิ่มให้รฟท.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,