บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตวันนี้ ยังไม่เคาะมติ รอชงความเห็นป.ป.ช.เข้าครม.ก่อน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันนี้ว่า เป็นการประชุมบอร์ดใหญ่ แต่ไม่ได้มีวาระที่ต้องลงมติ โดยมีวาระ คือ การรับทราบรายงานความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และการรับทราบหนังสือความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากต้องนำความเห็น ป.ป.ช.เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน

“หนังสือป.ป.ช. มาถึงทำเนียบฯ เมื่อศุกร์ที่แล้ว ซึ่งในกระบวนการ ไม่ทันเข้าสู่วาระครม.ในวันอังคารที่ผ่านมา ดังนั้น กลไกในการส่งหนังสือไปยังคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่เป็นทางการ แต่เมื่อมีการแถลงอย่างชัดเจน หนังสือถึงทำเนียบฯ แล้ว จะนำเนื้อหาของ ป.ป.ช. เข้าที่ประชุมในช่วงวาระการรับทราบรายงานข้อเสนอแนะของป.ป.ช.” นายจุลพันธ์ กล่าว

ส่วนที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต วันนี้จะมีการพิจารณาอยู่ 2-3 เรื่อง คือ

  1. การพิจารณาตั้งอนุกรรมการ ซึ่งได้วางกรอบแนวทางตั้งแต่ช่วงต้นของการตั้งคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เรื่องการติดตามเรื่องการทุจริต การใช้เงินผิดประเภท ในส่วนนี้จะมีวาระ และโครงสร้างของคณะอนุกรรมการที่ชัดเจนในวันนี้
  2. การเชื่อมต่อกับธนาคารพาณิชย์ กับการติดตามตรวจสอบเรื่องการทุจริต ซึ่งมีข้อห่วงใยจาก ป.ป.ช. ว่านโยบายนี้อาจมีการทุจริตได้ ดังนั้น จะมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษา และนำกลับมารายงานต่อคณะกรรมการฯ ถึงความมั่นใจของการเดินหน้านโยบายดิจิทัลว่าไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น
  3. ตั้งคณะทำงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เนื่องจากมีความเห็นที่หลากหลาย จึงต้องรับฟังให้ครบถ้วน และนำข้อสรุปต่างๆ มานำเสนอคณะกรรมการในการประชุมครั้งถัดๆ ไป

“วันนี้เชื่อว่าจะมีการพูดคุยกันมาก และแน่นอนว่า คณะกรรมการฯ ยึดกรอบพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังนั้น คงจะมีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง สำหรับเดตไลน์ของโครงการ ไม่มีคำว่าทำ หรือ ไม่ทำ มีแต่ทำ โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรอบ และขั้นตอน ส่วนเมื่อไรนั้น ประชาชนยังต้องรอต่อไป เมื่อชัดเจนแล้วจะบอก ส่วนแหล่งเงินยังเป็นพ.ร.บ.เงินกู้อยู่” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลไม่ได้ก้าวข้ามเรื่องนี้ เรื่องนี้ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา แต่ยืนยันในเรื่องหนึ่งว่า คำว่าวิกฤตหรือไม่ แม้แต่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เองก็ไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้หลากหลาย

ขณะนี้ รัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในจุดที่เปราะบาง และวิกฤตจริง ๆ ดูจากตัวเลขที่ออกมาในช่วง 1-2 เดือนล่าสุด ไม่มีทรง มีแต่ทรุด ตรงนี้ประกอบเข้ากับนโยบายของรัฐบาลที่ได้เติมเข้าไปแล้ว ทั้งเรื่องท่องเที่ยว ทั้งการลดค่าครองชีพแล้วก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง แต่มันมีกลไกหลายอย่าง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สถานการณ์ดอกเบี้ยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดทับพี่น้องประชาชน ให้ไม่มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย

“ระยะเวลาการดำเนินโครงการ ขอให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตฯ เป็นคนกำหนด ส่วนจะใช้เวลานานเท่าไร ยืนยันว่าไม่นาน แต่อยากให้รอที่ประชุมก่อน ส่วนแหล่งเงินในการดำเนินการ ยังยืนยันว่าเป็นการดำเนินการผ่าน พ.ร.บ.อยู่” นายจุลพันธ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 67)

Tags: , ,