พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร โฆษกประจำ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยหลังการประชุมกรรมการกสทช. นัดพิเศษ ว่าที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่
– โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และเพื่อสังคมในพื้นที่ขาดแคลน หรือยังขาดแคลนบริการที่ทั่วถึง ของแผนปฎิบัติการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ประจำปี 2565 ฉบับที่ 3 ภายใต้แผนการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2565) เนื่องจากการจัดเก็บได้เงิน USO น้อยลงไม่เป็นไปตามเป้า จึงปรับลดประมาณ จากประมาณ 6,600 ล้านบาท เหลือ 5,862.15 ล้านบาท โดยบอร์ดให้สำนักงาน กสทช. เปรียบเทียบราคาเช่าและซื้ออินเทอร์เน็ตก่อนว่าแบบใดจะถูกกว่าเมื่อเลือกได้แบบที่เหมาะสมแล้ว หากได้วิธีที่ถูกกว่าจะสามารถนำงบประมาณมาปรับเฉลี่ยเพิ่มจุดที่จะให้บริการ
*จัดงบโครงการ Telehealth 4 พันลบ.ใส่ในแผน USO ฉบับ 3
สำหรับรายละเอียดภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565) ภายใต้กรอบงบประมาณ 5,862.15 ล้านบาท จะประกอบไปด้วย
ยุทธศาสตร์ 1 : กลยุทธ์ที่ 1 ระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข ให้มุ่งเน้นโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหลัก เพื่อให้ รพ.สต. สามารถข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้ ภายใต้กรอบงบประมาณ 3,991.12 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 2 แบ่งเป็น
กลยุทธ์ที่ 1 ระบบโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะภายใต้กรอบงบประมาณ 1,371.85 ล้านบาท ให้มุ่งเน้นไปที่ระบบโรงเรียนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนภายใต้กองทุนเพื่อการศึกษา รวมทั้งโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการใด หรือโรงเรียนในพื้นที่ตกหล่น
กลยุทธ์ที่ 2 ระบบโทรคมนาคมเพื่อความมั่นคง ภายใต้กรอบงบประมาณ 499.18 ล้านบาท ในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำหนดหมู่บ้านในพื้นที่เป้าหมายและความต้องการ ในกรณีด่านตรวจคนเข้าเมือง ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กำหนดพื้นที่เป้าหมายและความต้องการ โดยสำนักงาน กสทช. ได้จัดทำโครงการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และเพื่อสังคมในพื้นที่ขาดแดลน หรือยังขาดบริการที่ทั่วถึง (USO 2565)
– ระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Boardcast) กรรมการรับทราบในหลักการ โดยให้มีระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ทั้งนี้การดำเนินการใช้กรอบวงเงินที่ 1,031 ล้านบาท (โดยจะหักจากเงินที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ AIS TRUE NT ต้องส่งเข้ากองทุน USO กรอบระยะเวลา 3 ปี) สำหรับการทำระบบภาครัฐ อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานใด ระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย หรือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทั้งนี้กระทรวงดีอีได้ตั้งกรอบบประมาณในการดำเนินการในส่วนนี้ไว้ที่ 434,679,068.80 บาท ทั้งนี้หลังจากนี้กระทรวงดีอีจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ได้ข้อสรุป
– การพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมฉบับที่ 4 (พ.ศ.2566-2568 ) ที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบในหลักการและให้ทำประชาพิจารณ์ก่อน ทั้งนี้ที่ประชุมยังไม่เห็นชอบกรอบวงเงินที่จะใช้เนื่องจากต้องการให้ไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาก่อน
*สาระสำคัญที่นำเสนอในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. ความหมายและคำนิยาม ใช้แนวทางที่ 6 “บริการโทรศัพท์ บริการอินเทอร์เน็ตและบริการโทรคมนาคมอื่นใดที่ใช้เทคโนโลยี โทรคมนาคมรวมถึงระบบและอุปกรณ์อื่นใดที่เป็นส่วนประกอบเพื่อให้เกิดบริการโทรคมนาคม ซึ่งสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ทำให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย และผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดแคลน รวมถึงสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล หน่วยงานด้านความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะและกลุ่มเป้าหมายอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด สามารถเข้าถึงโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ได้รับบริการด้านสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม”
2. ปรับปรุงกรอบระยะเวลา จากระยะ 1 ปี (2566) กรอบวงเงินค่าใช้จ่าย 8,000 ล้านบาท เป็นระยะ 3 ปี (2566 – 2568) กรอบวงเงินใช้จ่าย 24,000 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 67)
Tags: กสทช., สิทธิชัย มากกุญชร, โทรคมนาคม