นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ดกทพ.เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 66 ที่ประชุมบอร์ด กทพ.มีมติให้ชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทาง ทางพิเศษสาย บางพลี-สุขสวัสดิ์ ซึ่งเป็นทางด่วนที่กทพ.บริหารจัดการเอง ออกไป 6 เดือน (1 ก.ย.66-29 ก.พ.67) เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษฯ โดยถือเป็นงานด้านสังคม (CSR) ประเมินว่ากทพ.จะขาดรายได้ประมาณ 180 ล้านบาท โดยปัจจุบันปริมาณจราจรเฉลี่ย เกือบ 200,000 คัน/วัน
สำหรับทางพิเศษบูรพาวิถี(บางนา-ชลบุรี) และทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) ซึ่งต้องปรับค่าผ่านทางตามเงื่อนไขสัญญากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) ทุก 5 ปี ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 1 ก.ย. 66 โดยรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา ประเมิน ณ เดือน มี.ค.66 พบว่า CPI ปรับขึ้น 108% ส่งผลปรับค่าผ่านทางขึ้นประมาณ 10%
ซึ่ง บอร์ด กทพ.ได้หารือกับ ผู้แทนจากกองทุนรวมฯ คือ บลจ. กรุงไทย และบลจ.เอ็มเอฟซี เพื่อพิจารณาแนวทาง การให้ส่วนลดกับผู้ใช้บัตร Easy Pass โดยยังคงจ่ายค่าผ่านทางอัตราเดิม เป็นระยะเวลา 6 เดือน (1 ก.ย.66-29 ก.พ.67 ) และจะปรับค่าผ่านทางเฉพาะผู้ที่ชำระด้วยเงินสด เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านค่าครองชีพให้ประชาชนลงบางส่วน
ปัจจุบัน ทางพิเศษบูรพาวิถี มีปริมาณจราจรประมาณ 95,000 คัน/วัน มีสัดส่วนใช้บัตร Easy Pass 50% ทางพิเศษฉลองรัช มีปริมาณจราจรประมาณ 220,000 คัน/วัน มีสัดส่วนใช้บัตร Easy Pass 50% ซึ่งประเมินว่าจะสูญเสียรายได้จากการให้ส่วนลดหรือตรึงค่าผ่านทางอัตราเดิม 2 สายทาง สำหรับบัตร Easy Pass ในระยะเวลา 6 เดือน ประมาณ 113 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้กทพ.ประมาณ 61 ล้านบาท(55%%) รายได้ TFF ประมาณ 51 ล้านบาท(45%)
นายสรพงศ์ กล่าวว่า บอร์ด กทพ.เห็นว่า กทพ. สามารถดำเนินการตามขั้นตอน สัญญา กองทุนรวมฯ ได้ จึงหารือกองทุนรวมฯขอชะลอการปรับค่าผ่านทาง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเสนอแนวทางขอส่วนลดเพื่อดำเนินการทางการตลาดได้ ซึ่งผู้แทนกองทุนรวมฯ รับไปพิจารณา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 66)
Tags: กทพ., การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, ค่าทางด่วน, ทางด่วน, สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์