บล.พาย ประเมิน SET INDEX สัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 1,500-1,540 เชิงกลยุทธ์การลงทุน ยังมองเป็นโอกาสสะสมความกังวลต่างๆ ถูกสะท้อนไปในราคาพอสมควร แนะกลุ่ม Domestic Play อาทิ ค้าปลีก (BJC CRC CPALL DOHOME HMPRO) ธนาคาร (BBL KBANK KTB SCB) ขนส่ง (BEM) ท่องเที่ยว (AOT MINT SHR VRANDA) อาหาร (TU) สินค้า IT (COM7) ส่วน Trading แนะหุ้นที่ผลประกอบการยังเด่น (ICHI SAPPE) และ ศูนย์การค้า (CPN) AOT (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 82.00 บาท)
ยังมีมุมมองที่ดีกับ AOT ในแง่ของผู้ประกอบการที่ได้รับผลดีจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะผลการดำเนินงานที่ในช่วง FY2Q23 กำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1,861 ลบ. (+443%QoQ) หลังเที่ยวบินและผู้โดยสารเติบโตต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของจีน นอกจากนี้แนวโน้มในช่วง FY3Q23 จะเริ่มได้รับผลดีจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สิ้นสุดลง
CPN (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 83.00 บาท) แนวโน้มในช่วง 2Q23 คาดว่ารายได้จะยังเห็นการเติบโตขึ้นได้จากช่วงเทศกาลสงกรานต์และหลังจากนี้ CPN ยังคงมีแผนเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่มีการเปิดเซ็นทารา อุบลไปในช่วงเดือน มี.ค. ซึ่งจะมีเปิดอีก 5 แห่งในช่วงที่เหลือของปีนี้
บล.พาย ระบุว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ปัจจัยการเมืองยังคงเป็นที่จับตาโดยเฉพาะวันจันทร์กับร่าง MOU ของแกนนำกลุ่มจัดตั้งรัฐบาล หากร่าง MOU ที่ประกาศออกมาแล้วส่งผลให้จำนวน ส.ว. เริ่มเห็นด้วยกับแนวทางบริหารประเทศและมีจำนวน ส.ว. ต่อการโหวดมากขึ้นก็จะช่วยคลายความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาล (ปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น)
ส่วนนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะเน้นสนับสนุนฐานล่างมากกว่าฐานบน ยังเชื่อว่าใช้ระยะเวลาและยังไม่เห็นผลกระทบเชิงลบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในเร็วๆนี้ และอีกปัจจัยคือนโยบายต่างๆอาจเต็มที่มิได้มากนักเพราะไม่ใช่พรรคเดียวมีพรรคต่างๆผสมกัน โดย Timeline หลังจากนี้กว่าจะเข้าสู่ช่วงเวลาเลือกนายกรัฐมนตรีก็ช่วงปลาย ส.ค. จึงเชื่อว่าแรงกดดันจากปัจจัยการเมืองจะค่อยๆลดลงจากนี้และอีกไม่นานตลาดก็จะกลับไปให้น้ำหนักกับตัวเลขเศรษฐกิจ (เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย)
ล่าสุด การแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่าเครื่องมือรักษาเสถียรภาพทางการเงินช่วยให้ภาคธนาคารสงบ ในทางกลับกันเงื่อนไขสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นมีแนวโน้มจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่านี้ โดยทางเฟดคิดว่าการไม่ลดเงินเฟ้อจะเพิ่มต้นทุนให้กับสังคม และท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดอันตรายต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งเฟดตั้งเป้าหมายที่จะหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าว ภายหลังจากแถลงข้างต้น CME FED Watch ปรับเพิ่มน้ำหนักคงดอกเบี้ยในการประชุมเฟดกลางเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 82.6% จากวันก่อนหน้าที่ 64%
ตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ ได้แก่ (1) ยอดขายบ้านมือหนึ่งของสหรัฐฯในวันอังคาร Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 6.6 แสนหลังคาเรือน (2) เงินเฟ้อสหรัฐฯในวันศุกร์ (PCE) Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 4.3%YoY , 0.3%MoM หากรายงานแล้วต่ำกว่าคาดการณ์จะเป็นปัจจัยบวกให้กับตลาดหุ้น
ส่วนในประเทศไทยจะมีตัวเลขการค้าระหว่างประเทศ Bloomberg Consensus ประเมินส่งออกหดตัว 2%YoY และนำเข้า -5%YoY
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 66)