บล.ทิสโก้ ชี้ 3 ปัจจัยกดดัน SET ครึ่งปีแรกผันผวน แนะลงทุน Value Stock-ปันผลดี

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ปี 2564 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ดีของการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) อยู่ที่ 17% นอกจากนี้ มีตลาดหุ้นถึง 21 ประเทศ จากตลาดหุ้นทั้งหมด 48 ประเทศที่อยู่ใน MSCI World Index ขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา ได้รับแรงหนุนจากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังมีการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง รวมทั้งการใช้นโยบายการเงินและการคลังจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับตลาดหุ้นไทยปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนที่ 14% ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นโลกที่ 17% และอยู่ในอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม หากเทียบผลตอบแทนตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2564 ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเพียง 5% เทียบกับตลาดหุ้นโลกที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 34% เพราะเป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาฟื้นตัวช้าและยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนช่วงเกิดวิกฤต COVID-19 หลัก ๆ จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังได้รับผลกระทบหนัก

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 2565 บล.ทิสโก้มีมุมมอง “เชิงบวกอย่างระมัดระวัง” โดยในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าดัชนีหุ้นไทย (SET Index) จะแกว่งไซด์เวย์ในกรอบ 1,550-1,700 จุด ก่อนที่จะปรับขึ้นทะลุระดับ 1,700 จุดในช่วงครึ่งปีหลัง โดยบล.ทิสโก้ให้เป้าหมาย SET Index ที่เหมาะสมสำหรับสิ้นปี 2565 ที่ 1,720 จุด

ทั้งนี้ สำหรับในช่วงครึ่งปีแรก บล.ทิสโก้ประเมินว่าหุ้นไทยจะมีความท้าทายและมีโอกาสเกิดความผันผวนได้ง่ายจาก 3 ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ

1. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ระบาด Omicron โดยคาดว่ามีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะเร่งตัวขึ้นหลังจากผ่านพ้นช่วงฤดูกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ไปแล้ว หากผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นไม่หยุดจนสร้างภาวะตึงตัวแก่ระบบสาธารณสุข หรือ ลามเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม อาจนำไปสู่การใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ

2. แนวโน้มเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอยู่และนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น โดยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุดเดือน พฤศจิกายน 6.8% สูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในระยะสั้น คาดจะสร้างความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ อาจเข้มงวดเร็วกว่าคาด ทั้งการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและการเร่งปรับลดขนาดงบดุลลง (Quantitative Tightening : QT) และ 3. แรงกดดันจากเงินกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ครบกำหนด 7 ปี โดยปกติเงินส่วนนี้มักไหลออกในช่วงไตรมาสที่ 1 ของทุกปี จากการประเมินของบล.ทิสโก้ คาดว่าเงินก้อนนี้จะสามารถไหลออกได้มากถึง 5 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าจะมีเม็ดเงิน LTF บางส่วนไหลกลับไปลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) อีกครั้งเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่งผลให้เงิน LTF ที่จะไหลออกสุทธิน่าจะไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท

นายอภิชาติ กล่าวว่า แม้จะมี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตาและทำให้ตลาดหุ้นผันผวนได้ แต่บล.ทิสโก้มองว่าหากหุ้นย่อตัวลงอาจเป็นจังหวะในการเข้าลงทุน เพราะคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังดัชนีหุ้นไทยจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นมาแตะระดับ 1,750-1,800 จุด หลัก ๆ จากการกระจายวัคซีนเข็มกระตุ้นจะครอบคลุมมากขึ้น และแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเริ่มอ่อนตัวลงในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาด ขณะที่เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง คาดจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 4/2565 และมีโอกาสที่เงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้าจากการแข็งค่าของเงินบาทหลังกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งโอกาสเกิดการเลือกตั้งในปี 2565 ซึ่งตลาดหุ้นไทยมักตอบสนองในทางบวก

โดยสรุป บล.ทิสโก้มองตลาดหุ้นไทยปี 2565 ยังน่าลงทุน แต่ต้องรอนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาก้าวกระโดดในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะฉะนั้น ตลาดครึ่งปีแรกจึงน่าจะมีโอกาสปรับขึ้น (Upside) จำกัด และมีโอกาสเกิดความผันผวนได้ง่าย จึงเน้นการลงทุนหุ้นเชิงคุณค่า (Value Stock) และหุ้นปันผลดีสม่ำเสมอฟันฝ่าช่วงเวลานี้ หุ้นแนะนำสำหรับการลงทุนช่วงครึ่งปีแรก คือ ADVANC , BDMS , DTAC , EGCO , KKP , SCB , SPALI และ WHA สำหรับเดือน มกราคมแนะนำหุ้นที่ราคาพักฐานลงมาแล้วก่อนหน้านี้และมีการจ่ายปันผลดี คือ BEC , DCC , KKP และ TVO และหุ้นที่คาดมีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหนุน แนะนำ BJC และ TPIPL ส่งผลให้หุ้นเด่นในเดือน มกราคม คือ BEC , BJC , DCC , KKP , TPIPL และ TVO

ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,620 จุด และแนวรับต่อไปที่ 1,590-1,600 จุด ขณะที่แนวต้านสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,680-1,690 จุด และแนวต้านต่อไปที่ 1,700 จุด ตามลำดับ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 65)

Tags: , , ,