บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดขายกองตราสารหนี้เอเชีย 15-21 ก.ค.ชูบริหารเชิงรุก

นายอาชวิณ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้เอเชียนับว่ามีความน่าสนใจ โดยได้รับการสนับสนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากนักลงทุนสถาบัน ซึ่งกว่า 71% ของการลงทุนเป็นเม็ดเงินที่ไหลมาจากนักลงทุนเอเชีย บริษัทจึงได้เล็งเห็นโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดดังกล่าว จึงได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Asian Fixed Income SCB Asian Fixed Income : SCBABOND) มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 15 – 21 ก.ค. 2564 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท

“ตลาดตราสารหนี้เอเชียถือเป็นสัดส่วนหลักในดัชนี Corporate Emerging Market Bond โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณ 20% ตั้งแต่ปี 2551 นอกจากนี้ยังมี spread premium เหนือกว่าตลาดจากยุโรป และสหรัฐฯ จากการที่ธนาคารกลางในเอเชียยังคงดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายและใช้มาตรการสนับสนุนทางการเงินอย่างเข้มข้น จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในเอเชียจะดีกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Risk-adjusted return) ตลาดนี้ก็มีความน่าสนใจกว่าเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่น ดังนั้น การลงทุนในตลาดตราสารหนี้เอเชียจึงเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุน และมีความผันผวนน้อยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ”

นายอาชวิณ กล่าว

กองทุน SCBABOND เป็นกองทุนบริหารเชิงรุก ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ DWS Invest Asian Bonds (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (share class) USD FC50 ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน บริหารโดย DWS Investment S.A. จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์ก และอยู่ภายใต้ UCITS

โดยกองทุนหลักจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ เช่น Corporate, Quasi-Sovereign และ Sovereign Bonds ที่เป็นตราสารหนี้ที่ออกในเอเชีย อาทิ อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังกำหนดกรอบการลงทุนโดยกำหนดให้ Credit Rating ไม่เกิน 20% ที่ต่ำกว่า B-, ผู้ออกตราสารไม่เกิน 5% ต่อราย และความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่เกิน 10% ในสกุลท้องถิ่น ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน

สำหรับกองทุนหลักบริหารโดยทีมบริหารที่มีประสบการณ์ลงทุนในตราสารหนี้ของเอเชียยาวนานกว่า 27 ปี และได้รับรางวัลทรงคุณวุฒิจากหลายเวที ด้วยกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกแบบ Benchmark Agnostic โดยไม่ยึดกับน้ำหนักการลงทุนตามดัชนี ทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนได้อย่างฉับไว

นอกจากนี้ ยังเน้นการทำ credit selection อย่างระมัดระวัง พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการรักษาและเติบโตของเงินต้น โดยเริ่มต้นจากมุมมองมหภาค ไปยังการคัดเลือกตราสารรายตัวเข้าสู่พอร์ตลงทุนส่งผลให้กองทุนหลักสามารถที่จะให้ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Risk-adjusted return) ได้ในระดับที่น่าสนใจ ทั้งนี้ กองทุนหลักมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 8.9% เทียบกับดัชนีอ้างอิง JP Morgan Asian Credit Index อยู่ที่ 5.6% (ที่มา: DWS ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)

Tags: , , , , ,